นิด้าโพล เปิดเผยผลการสำรวจเรื่องผู้สูงอายุไทยอายุ 60 ปี แล้วยังต้องการทำงานหาเงินเลี้ยงชีพต่ออีกหรือ? สำหรับนโยบายการขยายอายุเกษียณงานจากเดิมอายุ 60 ปี เป็น 65 ปี พบว่าผู้สูงอายุ 57.71% เห็นด้วย และ 42.29% ไม่เห็นด้วย ในจำนวนผู้สูงอายุที่ตอบเห็นด้วยนั้น ปรากฏว่า 79.50% มองว่าสุขภาพยังดี สามารถทำงานสร้างประโยชน์ได้ ต่อมา 77.12% มีเวลาทำงานสร้างรายได้ได้ต่อเนื่อง และ 36.64% ช่วยเกื้อกูลลูกหลานได้ ไม่เป็นภาระกับลูกหลาน
สำหรับผู้สูงอายุที่ไม่เห็นด้วยนั้น ปรากฏว่า 69.86% มองว่าเป็นปัญหาด้านสุขภาพ รองลงมา 37.55% เสียโอกาสทำในสิ่งที่ตนเองชอบเพราะยังต้องทำงานต่อ มี 33.94% มองว่าเวลาในการได้รับสิทธิประโยชน์เงินประกันชราภาพ/เงินบำเหน็จ/เงินบำนาญต้องเลื่อนออกไป และ 7.40% ระบุอื่น ๆ เช่น เป็นการลดโอกาสการเข้ามาทำงานของคนรุ่นใหม่
ผลสำรวจเปิดเผยต่อไปว่า ผู้สูงอายุ 65.50% ที่ไม่ได้ทำงานนั้น พบว่า 50.82% ให้เหตุผลสุขภาพไม่ดี รองลงมา 44.29% ระบุว่าลูกหลานไม่อยากให้ทำงาน ถัดมา 26.34% มีเงินออมเพียงพอแล้ว และ 14.10% ระบุว่าไม่ชอบ/เบื่อระบบการทำงานที่เคยทำ ในส่วนผู้สูงอายุที่ทำงานนั้น ปรากฏว่า 84.29% ต้องการรายได้ รองลงมา 70.58% สุขภาพยังดีอยู่ มี 37.39% เกื้อกูลลูกหลานได้ และ 36.06% ระบุว่าไม่เหงา มีเพื่อนฝูง/คนรู้จัก
นอกจากผลสำรวจดังกล่าวของนิด้าโพลแล้ว ภาวะคนไทยสูงอายุเกษียณแล้วจะเผชิญปัญหาเงินไม่พอเลี้ยงปากเลี้ยงทอง เป็นอีกมุมหนึ่งที่น่าสนใจ โดยเฉพาะข้าราชการเกษียณอายุที่ถึงแม้ว่าจะได้รับเงินบำนาญก็ตาม ข้อมูลของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือกบข.ในปี 2567 พบว่า สมาชิก กบข. มีแหล่งที่มาหลักของเงินหลังเกษียณ 2 ช่องทาง คือ บำนาญจากกรมบัญชีกลาง โดยเงินส่วนนี้จะเฉลี่ยราวเดือนละ 35,000 หรือคิดเป็นเงินก้อนประมาณ 7 ล้านบาท และช่องทางที่ 2 คือ เงินก้อนจากกบข. ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ราว 1.3 ล้านบาท เมื่อรวมกันสุทธิทำให้สมาชิก กบข. จะมีเงินเฉลี่ยประมาณ 8.3 ล้านบาทเมื่อเกษียณอายุที่ 67 ปี
สำหรับเงินก้อนดังกล่าวราว 8.3 ล้านบาทของข้าราชการเกษียณอายุที่เป็นสมาชิกกบข. มาเทียบกับค่าใช้จ่ายรายเดือน ซึ่งประกอบด้วยระดับความกินดีอยู่ดี 3 ระดับ ได้แก่ ขั้นพื้นฐานจะอยู่ที่กว่าเดือนละ 26,000 บาท ขั้นดีจะอยู่ที่กว่าเดือนละ 36,000 บาท และขั้นดีมากอยู่ที่กว่าเดือนละ 58,000 บาท
ดังนั้น จะพบว่า สมาชิก กบข. จำนวนมากประมาณ 82% มีความเสี่ยงที่จะไม่มีเงินก้อนหลังเลยอายุเกษียณในขั้นดีได้ สะท้อนถึงข้าราชการไทยส่วนใหญ่อาจต้องใช้ชีวิตด้วยความระมัดระวังด้านการเงิน หรืออาจไม่มีคุณภาพชีวิตที่ดีตามที่คิดไว้