นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ เปิดเผย ข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจ และสังคมของครัวเรือนไทย (SES) ปี 2023 พบว่า คนไทยตกอยู่ในสถานะโสดมากขึ้น โดยมีสัดส่วนถึง 23.9% ที่น่าสนใจ คือ โดยเฉพาะในช่วงวัยเจริญพันธุ์ของคนไทยมีสัดส่วนมากถึง 40.5% ที่มีสถานะโสด ซึ่งสูงกว่าภาพรวมประเทศเกือบเท่าตัว และสัดส่วนนี้ยังเพิ่มขึ้นเมื่อ 8 ปีผ่านมา หรือนับตั้งแต่ปี 2016 ที่มีอยู่ 35.7%
สำหรับสาเหตุที่ส่งผลให้คนไทยเป็นโสด ประกอบด้วย ค่านิยมทางสังคมยุคใหม่ด้วยการเป็นโสด พบว่า มีกลุ่มคนเป็นโสด 3 กลุ่ม ได้แก่ โสดแบบ SINK หรือ Single Income, No Kids หมายถึงคนโสดที่มีรายได้ และไม่มีลูก มักจะเน้นการใช้จ่ายเพื่อตนเองเป็นหลัก ในปี 2566 พบว่า สัดส่วนคนโสดแบบ SINK มีเพิ่มสูงขึ้นตามระดับรายได้ที่เพิ่มขึ้น
โสดแบบ PANK หรือ Professional Aunt, No Kids หมายถึงกลุ่มผู้หญิงโสดทึ่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป มีรายได้ มีอาชีพการงานดี และไม่มีลูก แต่ให้ความสำคัญกับการดูแลหลาน และเด็กในครอบครัวรอบตัว คนโสดแบบ PANK มีจำนวน 2.8 ล้านคน โดยส่วนใหญ่มีรายได้ดี และจบการศึกษาสูง
โสดแบบ Waithood หมายถึงกลุ่มคนโสดที่เลือกจะรอคอยความรักจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น ความไม่พร้อม ความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ โดยคนโสดมากถึง 40% ที่มีรายได้ต่ำสุดมีสัดส่วนอยู่ที่ 37.7% ส่วนใหญ่เป็นเพศชายมากถึง 62.6% มีระดับการศึกษาที่ไม่สูงมากนัก ส่งผลต่อความสามารถในการหารายได้มีอย่างจำกัด
ปัญหาความต้องการ หรือความคาดหวังที่ไม่สอดคล้องกัน จึงเป็นผลจากความคาดหวังทางสังคม และทัศนคติต่อการมองหาคู่ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป บริษัทมีทแอนด์ลันช์ สาขาประเทศไทย (2021) เปิดเผยว่า ผู้หญิงกว่า 76% จะไม่ไปเดทกับผู้ชายที่มีรายได้น้อยกว่า และ 83% จะไม่คบหาผู้ชายที่มีส่วนสูงน้อยกว่า ขณะเดียวกัน ผู้ชาย 59% จะไม่คบผู้หญิงที่มีความสูงกว่า และกว่า 60% จะไม่ไปเดทกับผู้หญิงที่เคยผ่านการหย่าร้างมาก่อน
โอกาสในการพบปะผู้คน พบว่า ในปี 2023 คนโสดมีชั่วโมงการทำงานสูงกว่าค่าเฉลี่ยชั่วโมงทำงานของคนทั้งประเทศ เมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ ถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 5 ของเมืองที่แรงงานทำงานหนักที่สุดในโลก จึงมีให้คนโสดในไทยไม่มีโอกาสในการมองหาคู่ชีวิต
นโยบายส่งเสริมการมีคู่ของรัฐบาลที่ยังไม่ต่อเนื่อง และไม่ครอบคลุมความต้องการของคนโสด นโยบายส่งเสริมการมีคู่ของไทยในช่วงที่ผ่านมายังมีไม่มากเท่าไหร่ ขณะที่ในต่างประเทศ รัฐบาลมีแนวทางการส่งเสริมการมีคู่ที่ครอบคลุมไปถึงการบรรเทาภาระค่าใช้จ่าย และการสร้างโอกาสในการมีคู่ชีวิต