โบล์ท (Bolt) ผู้ให้บริการรถยนต์ร่วมเดินทางชื่อดังจากยุโรป เปิดเผยรายงานข้อมูลชื่อว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจ บริการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชั่น (Ride-hailing) ของประเทศไทย พบว่าในแต่ละวันมีการเดินทางผ่านบริการแอปพลิเคชันเรียกรถกว่า 1 ล้านเที่ยวที่เชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะและสนามบินในเมืองหลักทั่วประเทศไทย การเดินทางเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว และช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจท้องถิ่น
ประเทศไทยนับเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียที่โบลท์เลือกเข้ามาให้บริการ และล่าสุดได้ขยายการให้บริการสู่ประเทศมาเลเซียเป็นประเทศที่ 2 ในอาเซียน นอกเหนือจากการศึกษาในประเทศไทย Oliver Wyman Mobility Forum ได้ทำการศึกษาภาพรวมของเศรษฐกิจแพลตฟอร์มเรียกรถในระดับโลก โดยคาดการณ์ว่าภาคอุตสาหกรรมการเดินทางร่วมกัน (Shared Mobility) จะสร้างโอกาสทางรายได้ให้ผู้ขับขี่ถึง 16 ล้านคนภายในปี 2573 ซึ่ง 95% เป็นโอกาสทางรายได้ในภาคบริการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชัน (Ride-hailing)
เอเชียเป็นภูมิภาคที่มีอัตราการเติบโตของจำนวนผู้ขับขี่สูงที่สุด โดยคาดว่าจะมีผู้ขับขี่ถึง 11.6 ล้านคนในปี 2573 เพิ่มขึ้น 84% จากปี 2566 สำหรับประเทศไทยเป็นผู้นำการเติบโตของอุตสาหกรรมการเดินทางร่วมกัน (Shared Mobility) ในเอเชีย โดยนับตั้งแต่เริ่มให้บริการในปี 2556 อุตสาหกรรมนี้ได้เติบโตจนมีผู้ให้บริการที่ได้รับใบอนุญาต 11 ราย ได้แก่ Grab, Bolt, Hello Phuket Service, Bonku, Asia Cab, AirAsia Super App, inDrive, Maxim, LINE MAN, TADA และ Lalamove ครอบคลุมการให้บริการใน 60 จังหวัดทั่วประเทศ
จังหวัดในไทยที่มีปริมาณการใช้บริการสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ พัทยา ภูเก็ต และหาดใหญ่ ขณะที่เชียงราย ตาก อุดรธานี อุบลราชธานี และพิษณุโลก กำลังเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง ปัจจุบันแอปพลิเคชันเหล่านี้สร้างรายได้ให้ผู้ขับขี่กว่า 500,000 คน โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) 10% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา