นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม เปิดเผยถึงแนวทางการแก้ปัญหาจราจรติดขัดบนทางพิเศษ (ทางด่วน) ในพื้นที่ชั้นในกรุงเทพมหานคร (กทม.) รวมถึงการปรับปรุงระบบค่าผ่านทาง เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชนนั้น ล่าสุด การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) อยู่ระหว่างการหารือร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และบมจ. ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ในฐานะผู้รับสัญญาสัมปทานบริหารทางด่วน ในการพิจารณาปรับโครงสร้างลดอัตราค่าผ่านทางฯ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการใช้ทางด่วนให้กับประชาชน ซึ่งในระยะแรกจะเริ่มดำเนินการใช้กับทางด่วนขั้นที่ 2 สายงามวงศ์วาน – พระราม 9 ระยะทางประมาณ 17 กิโลเมตร (กม.) เนื่องจากมีผู้ใช้ทางเป็นจำนวนมาก
สำหรับอัตราค่าผ่านทางใหม่ที่มีการปรับลดลงนั้น เริ่มต้นที่ 25 บาท และสูงสุดไม่เกิน 50 บาท จากในปัจจุบันมีอัตราอยู่ที่ 25 – 90 บาท กล่าวคือ จะมีการยกเลิกด่านประชาชื่น (ขาออก) และด่านอโศก (ขาออก) ซึ่งมีปริมาณรถหนาแน่น ซึ่งจากเดิมมีค่าผ่านทาง 25 บาท ทำให้เหลือ 0 บาท ส่วนด่านประชาชื่น (ขาเข้า) เดิมมีค่าผ่านทาง 65 บาท เหลือ 50 บาท
ขณะที่ ด่านอโศก (ขาเข้า) เดิมมีค่าผ่านทาง 50 บาท เหลือ 25 บาท และด่านศรีนครินทร์ (ขาเข้า) จ่ายเงินทางขึ้น 25 บาท
อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะหารือและได้ข้อสรุปภายใน 2 เดือน ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการขั้นตอนอื่น ๆ ต่อไป
ทั้งนี้ ในการปรับลดค่าผ่านทางดังกล่าว จะทำให้รายได้ของผู้รับสัมปทานลดลง ดังนั้น จากการหารือในเบื้องต้น กทพ. มีแนวทางขยายสัญญาสัมปทานให้กับ BEM ระบบทางด่วนขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 ที่จะสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 30 ตุลาคม 2578 พร้อมกับการพิจารณาแบ่งสัดส่วนรายได้ โดย กทพ. จะมีรายได้ลดลง เพื่อนำไปชดเชยให้กับผู้รับสัมปทานในการลดค่าผ่านทาง จากเดิม กทพ. มีสัดส่วน 60% ผู้รับสัมปทาน 40% ขณะเดียวกัน BEM จะต้องรับภาระในการลงทุนก่อสร้างโครงการทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2 สายงามวงศ์วาน–พระราม 9 (Double Deck) อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า การปรับลดค่าผ่านทางในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนเป็นอย่างมาก
ส่วนขั้นตอนหลังจากนี้ เมื่อ กทพ. หารือร่วมกับ สนข. และ BEM จนได้ข้อสรุปภายใน 2 เดือนนับจากนี้ กทพ. จะเสนอเรื่องให้คณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ. พิจารณาเห็นชอบแนวทางการปรับลดค่าผ่านทาง รวมทั้งการขยายสัญญาสัมปทาน, การปรับสัดส่วนรายได้ และ BEM เป็นผู้ลงทุนโครงการ Double Deck ก่อนจะเสนอไปยังคณะกรรมการ มาตรา 43 ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2562 พิจารณาเห็นชอบรายละเอียดการแก้ไขสัญญาฯ
ทั้งนี้ เมื่อผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการมาตรา 43 แล้วจะส่งร่างสัญญา ที่มีการปรับแก้ไขแล้วต่อไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อตรวจร่างสัญญา จากนั้นจะเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมพิจารณาเห็นชอบการแก้ไขสัญญา และเสนอไปยังคณะกรรมการร่วมทุนรัฐและเอกชน (PPP) เห็นชอบ ก่อนเสนอไปคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบในเดือนสิงหาคม 2567 หากมีความคืบหน้าจะแจ้งให้ประชาชนทราบต่อไป