ครม.อนุมัติแพ็กเกจ​ใหญ่​ช่วยเหลือประชาชน​ ผู้ประกอบการ ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม​ ลดภาษี​ ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ 

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าที่ประชุม ครม.มีการพูดถึงการเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยเพิ่มเติม จากครัวเรือนละ 9,000 บาท และค่าช่วยเหลือการล้างดินโคลนครัวเรือนละ 10,000 บาท ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจพื้นที่ รวมถึงการงดเว้นการเก็บค่าน้ำประปาและค่าไฟฟ้า โดยกระทรวงการคลังจะนำเสนอมาตรการทางด้านภาษี การลดค่าใช้จ่ายต่างๆ การลดค่าเช่าที่ราชพัสดุ การปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อฟื้นฟูบ้านและที่พักอาศัย ทั้งจากธนาคารรัฐและธนาคารเอกชน โดยกระทรวงการคลังจะชี้แจงรายละเอียดว่า ประเภทไหนเข้าข่าย ใช้งบประมาณเท่าไหร่

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่านายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการในที่ประชุม โดยเฉพาะมาตรการเยียวยาให้กับผู้ประสบอุทกภัยในหลากหลายพื้นที่กว่า 50 จังหวัด หลังจ ากรัฐบาลฟื้นฟูบรรเทาปัญหาต่างๆ แล้ว ได้มีการอนุมัติเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยครัวเรือนละ 9,000 บาทไปแล้ว

ซึ่งรัฐบาลได้สั่งการให้ทุกหน่วยเพิ่มเติมในการฟื้นฟูชีวิต รายได้ และเศรษฐกิจในระยะต่อไป โดยกระทรวงการคลังได้เร่งรัดมาตรการด้านการเงินผ่านธนาคารของรัฐ เพื่อเร่งบรรเทาทุกข์ของผู้ประสบภัยกลุ่มต่างๆ ในการซ่อมแซมบ้านเรือนของพี่น้องประชาชน และฟื้นฟูกิจการต่างๆ หรือการช่วยเหลือล้างดินโคลนของบ้านที่ประสบอุทกภัยครัวเรือนละ 10,000 บาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจพื้นที่ การยกเว้นการเก็บค่าน้ำประปาเพื่อทำความสะอาดบ้านเรือน และค่าไฟฟ้า ซึ่งคาดว่าสัปดาห์หน้าจะลงรายละเอียดได้ว่ามีกี่ครัวเรือน

นอกจากนี้ ยังมอบให้กระทรวงการคลังดูมาตรการช่วยเหลือเรื่องของภาษี การลดค่าใช้จ่ายตลอดจนสินเชื่อเพื่อฟื้นฟูบ้านพักอาศัย และกิจการต่างๆ โดยมีรายละเอียดคือ 1.การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคลเท่ากับจำนวนเงินชดเชยที่ได้รับจากรัฐบาล 2.ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัท และห้างหุ้นส่วนจำกัดสำหรับค่าสินไหมทดแทนที่ได้รับการช่วยเหลือจากบริษัทประกัน เพื่อชดใช้ความเสียหายจากอุทกภัย ซึ่งเงินที่ได้จากรัฐบาล และเงินชดเชยไม่ต้องนับไปเป็นรายได้เพื่อคำนวณภาษี 3.ยกเว้นอากรศุลกากรให้กับผู้บริจาคให้กับผู้ประสบภัย 4.พื้นที่ที่เช่ากับกรมธนารักษ์ และที่ราชพัสดุ จะลดค่าเช่าให้กับผู้ประสบอุทกภัยหรือการเช่าเพื่ออยู่อาศัย หากเสียหายบางส่วนจะยกเว้น 1 ปี หากเสียหายทั้งหลังจะยกเว้นค่าเช่าให้ 2 ปี ส่วนการเช่าเพื่อการเกษตรยกเว้นค่าเช่าให้ 1 ปี การเช่าเพื่อประโยชน์อย่างอื่นหากไม่สามารถทำกิจกรรมได้ตามปกติเกิน 3 วันจะพิจารณาลดค่าเช่าเป็นรายเดือน 

ขณะเดียวกัน กระทรวงการคลังยังจัดทำโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำหรือซอฟต์โลนตามวงเงินที่ได้อนุมัติไว้ก่อนหน้านี้ 50,000 ล้านบาท และผู้ประกอบการ SME ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม โดยคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำไม่เกินร้อยละ 3.5 ต่อปี ในระยะเวลา 2 ปี โดยแต่ละรายจะมีวงเงินประมาณ 40 ล้านบาท ซึ่งรายละเอียดสอบถามได้จากธนาคารที่ประชาชนใช้บริการอยู่ ทั้งธนาคารรัฐ และธนาคารพาณิชย์ 16 แห่งที่ร่วมโครงการ นอกจากนี้ ยังมีโครงการของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บยส.) ที่เป็นวงเงินค้ำประกันสินเชื่อประมาณ 1,000 ล้านบาท

โดยวงเงินต่อราย 10,000-2,000,000 บาท ค่าธรรมเนียม ​1.25% ต่อปี ระยะเวลาค้ำประกันไม่เกิน 10 ปี โดยธนาคารออมสินยังมีการช่วยเหลือลูกหนี้เดิม โดยจะมีการพักชำระหนี้เงินต้นโดยไม่คิดอัตราดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 6 เดือน สำหรับสินเชื่อวงเงินไม่เกิน 10 ล้านบาท ส่วนผู้ที่ถือบัตรเครดิตจะมีการปรับลดอัตราชำระขั้นต่ำ เป็น 3% ใน 3 รอบบัญชี ซึ่งที่ผ่านมาจะต้องชำระมากกว่า 3% หรือชำระเต็ม

ขณะที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ลูกหนี้ที่มีสถานะปกติหรือค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน ขอขยายระยะเวลาการชำระหนี้ได้สูงสุดถึง 20 ปี โดยมีระยะปลอดเงินต้นไม่เกิน 3 ปี และยกเว้นดอกเบี้ยปรับทั้งจำนวนด้วย นอกจากนี้ ยังมีมาตรการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉินสำหรับโครงการเสริมสภาพคล่อง และการอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในวงเงินรายละไม่เกิน 50,000 บาท ระยะเวลากู้ไม่เกิน 3 ปี โดย 6 เดือนแรกกระทรวงการคลังจะไม่เก็บอัตราดอกเบี้ย แต่หลังจากนั้นอัตราดอกเบี้ย​ MRR หรือ​อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำที่ธนาคารเก็บจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี ส่วนมาตรการสินเชื่อเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตรายการลงทุนในการซ่อมแซมบ้าน รวมทั้งซ่อมแซมอุปกรณ์ทางการเกษตรต่างๆ วงเงินต่อรายไม่เกิน 500,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ย MRR 2% ต่อปี​ ระยะเวลากู้ไม่เกิน​ 15 ปี ขณะที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์​ (ธอส.) จะมีมาตรการในการช่วยเหลือด้วย​ ส่วนธนาคารอิสลาม​ และอีกหลายธนาคารจะมีการออกมาตรการช่วยเหลือด้วย

ส่วนมาตรการที่อยู่ระหว่างการพิจารณาโดยจะต้องนำกลับเข้ามายังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) คือการออกระเบียบและกฎหมายต่างๆ เช่น มาตรการลดหย่อนภาษี​ โดยจะมีการกำหนดให้รายจ่ายค่าอุปกรณ์ตกแต่งบ้านหรือการก่อสร้างต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่ประสบอุทกภัยสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระให้ประชาชน ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งมาตรการของกระทรวงการคลัง

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles