นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบในหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน พ.ศ. …. เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการเงินของโลก (Financial Hub) โดยขั้นตอนต่อจากนี้ จะส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาผ่านช่องทางพิเศษแบบเร่งด่วน (Fast Track) คาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 50 วัน จึงเสนอเข้าสู่สภาได้ โดยรัฐบาล และกระทรวงการคลัง เห็นว่าการมีกฎหมายศูนย์กลางทางการเงิน จะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการเงินของโลกได้ เพราะประเทศไทยมีความพร้อม มีโลเคชั่นที่ดี มีโครงสร้างพื้นฐานมี่ดี เพียงแต่ขาดความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ การส่งเสริม สิทธิประโยชน์ทางภาษีและที่ไม่ใช่ภาษีด้วย
สำหรับร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน พ.ศ. …. ประกอบด้วย 9 หมวด 96 มาตราโดยจะจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงินให้เป็นหน่วยงานให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ (One-stop Authority: OSA) กำหนดคุณสมบัติของผู้ประกอบธุรกิจและกลไกการขออนุญาต กำหนดสิทธิประโยชน์เพื่อจูงใจนักลงทุน รวมไปถึงแนวทางการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพและเป็นไปตามหลักสากล
สรุปสาระสำคัญ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน พ.ศ. …. มีดังนี้
1. ผู้ประกอบธุรกิจใน Financial Hub
ผู้ประกอบธุรกิจใน Financial Hub เป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยหรือสาขาของนิติบุคคลต่างประเทศ
2. ธุรกิจที่จะเกิดขึ้นใน Financial Hub
-ธุรกิจที่จะเกิดขึ้นใน Financial Hub มีด้วยกัน 8 ประเภทดังนี้
-ธุรกิจธนาคารพาณิชย์
-ธุรกิจบริการการชำระเงิน
-ธุรกิจหลักทรัพย์
-ธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
-ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
-ธุรกิจประกันภัย
-ธุรกิจนายหน้าประกันภัยต่อ
-ธุรกิจทางการเงินหรือธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่องหรือสนับสนุนธุรกิจทางการเงิน ต้องมีสถานที่ตั้งในเขตพื้นที่ที่กำหนด ต้องจ้างแรงงานไทยเป็นสัดส่วนตามกำหนด สามารถให้บริการแก่ผู้ที่มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศเท่านั้น ยกเว้นในบางเงื่อนไขที่เป็นไปเพื่อการประกอบธุรกิจ
3. การขออนุญาต
ยื่นขอใบอนุญาตผ่านสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน (One Stop Authority: สำนักงาน OSA) ที่จะตั้งขึ้นใหม่ เพื่อเป็นหน่วยงานให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร (End to end) โดยมีคณะกรรมการ OSA ทำหน้าที่ ดังนี้
-กำหนดนโยบายเพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็น Financial Hub
-กำหนดแนวทางการส่งเสริมธุรกิจเป้าหมาย
-กำหนดประเภทและขอบเขตของการอนุญาต
-กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขในการขออนุญาต การอนุญาต รวมทั้งการเพิกถอน
-กำหนดหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแล
4. สิทธิประโยชน์ของผู้ประกอบธุรกิจใน Financial Hub
-จะได้รับสิทธิประโยชน์ทั้งทางภาษีและมิใช่ภาษีตามที่ คกก. กำหนด โดยสิทธิประโยชน์ทางภาษี-จะต้องแข่งขันได้ และสิทธิประโยชน์ที่มิใช่ภาษี เช่น การยกเว้นกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของบุคคลต่างด้าว สิทธิประโยชน์ในการนำคนต่างด้าวเข้ามาอยู่ในประเทศไทย การให้กรรมสิทธิในการถือครองห้องชุดเพื่อการประกอบธุรกิจและอยู่อาศัย เป็นต้น
สำหรับการพัฒนาไทยให้เป็น Financial Hub เป็นโอกาสของไทยที่จะสามารถดึงดูดผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในไทย พัฒนาภาคการเงินของประเทศไทย รวมทั้งสร้างโอกาสให้แก่แรงงานไทยดังนี้
1. พัฒนาระบบการเงินและนวัตกรรมทางการเงิน สร้างไทยเป็นศูนย์กลางทางการเงิน โดยการเข้ามาของผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินระดับโลกจะนำมาซึ่งการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงินช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงินได้สะดวกและทันสมัย ทำให้ไทยระบบนิเวศน์การเงินที่ทันสมัย เป็นศูนย์กลางของภูมิภาค โดยไทยจะเป็นประเทศต้นๆ ในโลกที่เปิดกว้างสำหรับธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลใน Financial Hub
2. พัฒนาทักษะแรงงานไทย การเข้ามาของผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินระดับโลกจะช่วยถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยี และทักษะทางการเงินที่ทันสมัย และเปิดโอกาสให้แรงงานไทยได้ทำงานในบริษัทชั้นนำและพัฒนาศักยภาพของตนเอง
3. สร้างโอกาสการจ้างงานและรายได้ที่สูง โดยเฉพาะในสายงานที่เกี่ยวข้องกับการเงิน เทคโนโลยี และบริการสนับสนุนด้านการเงิน เป็นการส่งเสริมอาชีพที่มีรายได้สูง แรงงานไทยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น
4. เพิ่มโอกาสทางธุรกิจ เนื่องจากการลงทุนของผู้ประกอบธุรกิจต่างชาติจะกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น อาคารสำนักงาน ระบบขนส่ง เทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น และทำให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเชื่อมโยงกับธุรกิจทางการเงินเพื่อขยายโอกาสการเติบโต