ครม.เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดขนาดลักษณะ สีแผ่นป้ายทะเบียนรถยนตร์โบราณ-คลาสสิกคาร์ ตามที่คมนาคมเสนอ

ครม.เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดขนาดลักษณะ สีแผ่น ป้ายทะเบียน รถยนตร์โบราณ -คลาสสิกคาร์ ตามที่คมนาคมเสนอ

นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดขนาด ลักษณะ และสีของแผ่นป้ายทะเบียนรถ และการแสดงแผ่นป้ายทะเบียนรถ และเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจำปี (ฉบับที่…) พ.ศ…. (กำหนดขนาด ลักษณะ และสีของแผ่นป้ายทะเบียนรถยนตร์โบราณ (Classic Cars)) ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ

นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
โดยมีสาระสำคัญเป็นการกําหนดขนาดลักษณะ และสีของแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์โบราณ (Classic Cars) เพื่อให้การควบคุมกํากับดูแลการจดทะเบียนรถยนต์โบราณเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการสร้างพลังสร้างสรรค์ (Soft Power)

ทั้งนี้เนื่องจากปัจจุบันกฎกระทรวงกําหนดขนาด ลักษณะ และสีของแผ่นป้ายทะเบียนรถ และการแสดงแผ่นป้ายทะเบียนรถและเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจําปี พ.ศ. 2554 มิได้กําหนดขนาด ลักษณะ และสีของแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์โบราณ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการควบคุมกํากับดูแลการจดทะเบียนรถยนต์โบราณ (Classic Cars) และส่งผลกระทบต่อมาตรการส่งเสริมงานศิลปะทั้งด้านจิตรกรรมและประติมากรรม และรถยนต์โบราณ ไม่เป็นไปตามกรอบนโยบายของรัฐบาล

โดยร่างกฎกระทรวงดังกล่าวได้มีการเพิ่ม บทนิยามคําว่า รถยนต์โบราณ (Classic Cars) รวมถึง การกําหนดขนาดและลักษณะของแผ่นป้ายทะเบียนของรถยนต์โบราณ (Classic Cars) ให้มีขนาดและลักษณะเช่นเดียวกับรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกินเจ็ดคน รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกินเจ็ดคน และรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล เว้นแต่บรรทัดที่หนึ่งประกอบด้วยตัวอักษร ประจําหมวดหนึ่งตัว หมายเลขทะเบียนไม่เกินสี่หลัก และกำหนดให้พื้นแผ่นป้ายใช้สีดําสะท้อนแสง ตัวอักษรประจำหมวด หมายเลขทะเบียน ตัวอักษรแสดงชื่อกรุงเทพมหานครหรือจังหวัดที่จดทะเบียน และขอบแผ่นป้ายใช้สีขาว

ทั้งนี้ ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องพิจารณาแล้วเห็นชอบหรือไม่ขัดข้องในหลักการ โดย กระทรวงการคลัง (กค.) ขอปรับปรุงแก้ไขถ้อยคำในส่วนของบทนิยาม สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเห็นว่าการนำรถยนต์โบราณมาใช้ในกิจกรรมเพื่อเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวและส่งเสริมนโยบายการสร้าง soft power หน่วยงานภาครัฐจำเป็นต้องมีการจัดทำ/ปรับปรุงกฎหมายหรือระเบียบ ข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง จึงเห็นควรมอบหมายให้ กค. ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการพิจารณาศึกษารายละเอียดของมาตรการและประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จ และรายงานผลการดำเนินงานต่อ ครม. เพื่อให้การพิจารณากฎหมายหรือระเบียบ ข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงร่างกฎกระทรวงฉบับนี้เป็นไปอย่างรอบคอบและเกิดประโยชน์สู.สุดต่อประเทศในภาพรวม

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles