ครม.เห็นชอบแผนบริหารหนี้สาธารณะ ปีงบ 65 จะอยู่ที่ 62.76% ยันไม่ทะลุเพดาน

820
0
Share:

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2565 ครั้งที่ 2 ตามที่คณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะเสนอ ดังนี้

1.แผนการก่อหนี้ใหม่ วงเงิน 1,415,103.57 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 49,619.73 ล้านบาท

2.แผนการบริหารหนี้เดิม วงเงิน 1,501,163.56 ล้านบาท ลดลง 35,794.42 ล้านบาท

3.แผนการชำระหนี้ วงเงิน 363,269.01 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,035.29 ล้านบาท

สำหรับความจำเป็นในการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ครั้งที่ 2 นี้ มีปัจจัยมาจาก

1. การกู้เงินเพิ่มเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จำนวน 10,000 ล้านบาท เพื่อให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสามารถรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และไม่กระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน

2. การปรับเพิ่มวงเงินปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้รัฐบาลที่ครบกำหนดในปีงบประมาณ 2565 ซึ่งเป็นหนี้เงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดกู้เงินโควิด-19 เพิ่มเติม พ.ศ.2564 เพื่อบริหารความเสี่ยงวงเงินกู้ต่างประเทศ ที่คาดว่าจะลงนามสัญญาและหรือรองรับการระดมทุนในสกุลเงินตราต่างประเทศที่อาจจะเกิดขึ้น จำนวน 29,345 ล้านบาท

3. การกู้เงินเพื่อลงทุนในโครงการพัฒนาและเพื่อดำเนินโครงการ หรือเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการทั่วไปของรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง จำนวน 39,445.05 ล้านบาท อาทิ การรถไฟแห่งประเทศไทย ปรับเพิ่มวงเงินโครงการระบบขนส่งมวลชนทางราง ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ช่วงบางซื่อ – ตลิ่งชัน (ระบบไฟฟ้า เครื่องกล และตู้รถไฟฟ้า) จำนวน 1,660.28 ล้านบาท การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ปรับเพิ่มเงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินในปี 2565- 2567 ภายใต้กรอบวงเงินไม่เกิน 25,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง คาดการณ์หนี้สาธารณะคงค้างต่อ GDP ภายหลังการปรับปรุงแผนในครั้งนี้ จะอยู่ที่ 62.76% ซึ่งไม่เกิน 70% ตามกรอบการบริหารหนี้สาธารณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐกำหนด ซึ่งประมาณ 70% ของหนี้สาธารณะ จะเป็นเงินกู้เพื่อการลงทุน แบ่งเป็น ด้านคมนาคม 26% ด้านการศึกษาและวิทยาศาสตร์ 13% ด้านเศรษฐกิจและสังคม 13% ด้านสาธารณูปการ 9% ด้านลงทุนทั่วไป 6% และด้านสาธาณสุข 2%