ครม. ไฟเขียวออก “หวยเกษียณ” ตามที่คลังเสนอ ชูหวยที่เงินไม่หาย ซื้อมาก ได้ลุ้นมาก ได้ออมมาก

ครม. ไฟเขียวออก “หวยเกษียณ” ตามที่คลังเสนอ ชูหวยที่เงินไม่หาย ซื้อมาก ได้ลุ้นมาก

เมื่อวันที่ 16 กรกฏาคม ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการส่งเสริมการออมทรัพย์ของกองทุนการออมแห่งชาติเพื่อรองรับการเกษียณผ่านโครงการสลากสะสมทรัพย์เพื่อเงินออมยามเกษียณ (หวยเกษียณ) โดยมอบหมาย กอช. แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. กอช. ในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับการดำเนินโครงการหวยเกษียณต่อไป

โดยมีหลักเกณฑ์หวยเกษียณมีดังนี้
1. ผู้ออมสามารถซื้อสลากขูดดิจิทัลผ่านแอปพลิเคชัน กอช.ใบละ 50 บาท ซื้อได้ไม่เกิน 3,000 บาทต่อเดือน
2. สามารถซื้อได้ทุกวันตลอด 24 ชม. โดยจะมีการออกรางวัลทุกวันศุกร์ เวลา 17.00 น.
3. รางวัลที่ 1 เป็นจำนวนเงิน 1,000,000 บาท จำนวน 5 รางวัล และรางวัลที่ 2 จำนวนเงิน 1,000 บาท จำนวน 10,000 รางวัล ผู้ถูกรางวัลจะสามารถถอนเงินรางวัลได้ทันที หากรางวัลออกไม่ครบ ทบไปงวดต่อไป
4. ไม่ว่าถูกรางวัล หรือไม่ถูกรางวัล เงินที่ซื้อสลากทุกบาท จะถูกเก็บไว้ในบัญชีเงินออมของแต่ละบุคคล ผ่าน กอช. และจะสามารถถอนคืนได้ตอนอายุ 60 ปี เพื่อการออมทรัพย์รองรับการเกษียณ
5. เงินในบัญชีนั้นยังได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนตลอดระยะเวลาก่อนเกษียณ ผ่าน กอช.

โดยสรุปโครงการหวยเกษียณ หวยที่เงินไม่หาย หวยที่ไม่มีวันถูกกิน ซื้อมาก ได้ลุ้นมาก ได้ออมมาก มีเงินเก็บมากในยามเกษียณ หวย 3 เด้ง ได้ลุ้นล้าน ได้ออมเงินทุกบาททุกสตางค์ ได้ผลตอบแทนการลงทุน ซึ่งในขั้นตอนต่อไป จะเข้าสู่กระบวนการแก้ไข พ.ร.บ. กอช. จะเร่งให้เร็วที่สุด และจะมารายงานความคืบหน้าเรื่อยๆ

สำหรับหลักการจ่ายรางวัลเบื้องต้น หากแต่ละงวดไม่มีผู้ถูกรางวัล จะมีการทบรางวัลนั้น ๆ ไปในงวดถัดไป และเงินค่าซื้อสลากทั้งหมด จะเป็นเงินออมของผู้ซื้อสลาก (เงินสะสม) ซึ่งจะนำเงินส่งเข้าบัญชีเงินออมรายบุคคลกับ กอช. โดย กอช. จะเป็นผู้บริหารจัดการเงินจำนวนดังกล่าว และเมื่อผู้ซื้อสลากอายุครบ 60 ปี จะสามารถถอนเงินทั้งหมดที่ซื้อสลากทั้งชีวิตออกมาได้

อย่างไรก็ดี ในส่วนผลกระทบด้านเงินงบประมาณนั้น นายเผ่าภูมิ ระบุว่า โครงการนี้จะกระทบกับงบประมาณน้อยมาก เพราะมีการใช้งบประมาณเพื่อจ่ายรางวัลสัปดาห์ละ 15 ล้านบาท เดือนละ 60 ล้านบาท หรือ 700-800 ล้านบาทต่อปี ถือว่าไม่มากเมื่อเทียบกับงบประมาณของเบี้ยคนชรา ที่ใช้เงินประมาณ 90,000 ล้านบาทต่อปี ดังนั้นเมื่อเปรียบเทียบกันแล้วอยากให้มองว่าอันไหนมันคุ้มค่าและเป็นประโยชน์ต่อประเทศมากกว่ากัน

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles