คลัง ต่อมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ “คุณสู้ เราช่วย ระยะที่ 2”  พร้อมผุด 3 มาตรการช่วยลูกหนี้รายย่อย

นายพรชัย  ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสถาบันการเงิน ได้มีการดำเนินโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” สำหรับลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ จำนวน 3 มาตรการ ได้แก่ (1) มาตรการที่ 1 “จ่ายตรง คงทรัพย์” ซึ่งมุ่งเน้นช่วยเหลือลูกหนี้สินเชื่อบ้าน รถ และ SMEs ขนาดเล็กที่มีวงเงินไม่สูงมาก และเคยมีประวัติค้างชำระเกินกว่า 30 วัน จนถึง 365 วัน หรือเคยปรับปรุงโครงสร้างหนี้เนื่องจากค้างชำระเกินกว่า 30 วัน ผ่านการลดค่างวด เน้นตัดเงินต้น และพักภาระดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยดอกเบี้ยที่พักไว้จะได้รับการยกเว้นหากลูกหนี้สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขได้ตลอดระยะเวลาของมาตรการ (2) มาตรการที่ 2 “จ่าย ปิด จบ” เพื่อช่วยลดภาระหนี้ให้แก่ลูกหนี้บุคคลธรรมดาที่เป็นหนี้เสีย แต่มียอดคงค้างหนี้ไม่สูง (ไม่เกิน 5,000 บาท) โดยให้ลูกหนี้ชำระหนี้เพียงบางส่วนของยอดหนี้คงค้างเพื่อปิดหนี้ได้ทันที และ (3) มาตรการที่ 3 “ลดผ่อน ลดดอก” ซึ่งเป็นการลดภาระการผ่อนชำระ และลดดอกเบี้ย สำหรับลูกหนี้สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคของ Non-banks จากผลการตอบรับพบว่า ประชาชนได้ให้ความสนใจอย่างต่อเนื่อง โดย ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2568 มีลูกหนี้แสดงความประสงค์เข้าร่วมโครงการและอยู่ระหว่างตรวจสอบสิทธิ์แล้วทั้งสิ้นกว่า 1.4 ล้านราย คิดเป็นจำนวนบัญชีกว่า 1.9 ล้านบัญชี

 เพื่อให้ความช่วยเหลือครอบคลุมไปยังลูกหนี้ทุกกลุ่มและมีมาตรการช่วยเหลือที่หลากหลายมากขึ้น กระทรวงการคลังร่วมกับ ธปท. ได้เสนอแนวทางการขยายคุณสมบัติของลูกหนี้ภายใต้โครงการ “คุณสู้ เราช่วย ระยะที่ 2” ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2568 โดยมีแนวทางสรุปได้ ดังนี้ 

1) การขยายคุณสมบัติลูกหนี้ของมาตรการจ่ายตรง คงทรัพย์ ให้รวมถึงลูกหนี้ที่ค้างชำระมากกว่า 365 วัน และลูกหนี้ที่ค้างชำระน้อยกว่า 30 วัน แต่เคยมีการปรับโครงสร้างหนี้ 

2) การขยายยอดคงค้างหนี้และประเภทหนี้ตามมาตรการจ่าย ปิด จบ ให้ครอบคลุมภาระหนี้จำนวน 10,000 บาท หากเป็นสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน (Unsecured Loan) และ 30,000 บาท หากเป็นสินเชื่อที่มีหลักประกัน (Secured Loan) 

3) การเพิ่ม “มาตรการจ่าย ตัด ต้น” เพื่อให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมแก่ลูกหนี้ NPLs ซึ่งมีสินเชื่อไม่มีหลักประกัน (Unsecured Loan) ที่มียอดหนี้คงค้างไม่เกิน 50,000 บาทต่อบัญชี โดยการปรับโครงสร้างหนี้ให้มีเงื่อนไขเป็นการผ่อนชำระคืนเป็นงวด (Term Loan) และกำหนดอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำที่ร้อยละ 2 ของยอดคงค้าง เป็นระยะเวลา 3 ปี และยกเว้นดอกเบี้ยให้หากลูกหนี้สามารถทำตามเงื่อนไขของมาตรการได้ครบ 3 ปี

ทั้งนี้ คาดว่าการขยายคุณสมบัติของลูกหนี้ตามโครงการ “คุณสู้ เราช่วย ระยะที่ 2” จะช่วยเหลือลูกหนี้ได้เพิ่มเติมอีกกว่า 1.8 ล้านราย หรือ 2.0 ล้านบัญชี ยอดสินเชื่อคงค้างรวม 310,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ที่เป็นกลุ่มเปราะบางเพิ่มเติม กระทรวงการคลังได้มอบหมายสถาบันการเงินเฉพาะกิจในการออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติมโดยคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของลูกหนี้ เช่น มาตรการแก้หนี้รหัส 21 สำหรับลูกหนี้ที่สะดุดในช่วงการแพร่ระบาดของ Covid-19 และมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้โครงการสินเชื่อตามนโยบายรัฐบาล เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้ไม่ให้เป็น NPLs หรือหมดภาระหนี้ได้เร็วขึ้น และหลุดพ้นจากประวัติหนี้เสียโดยเร็ว ทั้งนี้ การช่วยเหลือเพิ่มเติมของสถาบันการเงินเฉพาะกิจจะสามารถช่วยเหลือลูกหนี้ได้ประมาณ 530,660 บัญชี ภาระหนี้ประมาณ 9,407 ล้านบาท 

นายพรชัยฯ ได้เน้นย้ำว่า การขยายคุณสมบัติโครงการคุณสู้ เราช่วย ภายใต้ “โครงการคุณสู้ เราช่วย ระยะที่ 2” ยังคงหลักการสำคัญเช่นเดียวกับการดำเนินโครงการคุณสู้ เราช่วย ในระยะแรก คือ (1) ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการแก้หนี้ (2) เป็นมาตรการเฉพาะกลุ่มที่เน้นช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบางที่มีโอกาสรอดให้สามารถฟื้นตัวกลับมาชำระหนี้ได้ หรือกลับมาเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ และ (3) เป็นมาตรการที่มีแนวทางป้องกันมิให้ลูกหนี้เสียวินัยในการชำระหนี้ (Moral Hazard) ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการผลักดันให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบและแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างเป็นรูปธรรม ให้ลูกหนี้กลับเป็นลูกหนี้สถานะปกติและเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงสภาพคล่องและเงินทุนในอนาคตได้

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles