นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กล่าวว่า การจัดเก็บรายได้ของกรม สรรพสามิต ในปีงบประมาณ 2567 นั้น ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เนื่องจากรัฐบาลมีการออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือประชาชนเกี่ยวกับการลดภาษีน้ำมันดีเซล ทำให้สูญเสียรายได้เฉลี่ยเดือนละ 20,000 ล้านบาท สอดรับกับภาษีรถยนต์ที่จัดเก็บลดลง ซึ่งมาจากกลไกภาษีในการสนับสนุนการปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมยานยนต์สันดาปภายใน (ICE) ไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) อย่างไรก็ตาม การดึงดูดการลงทุนต่างประเทศผ่านกลไกภาษีของสรรพสามิตนั้น สามารถทำให้เกิดการลงทุนกว่า 80,000 ล้านบาท ที่สำคัญ ช่วยลดคาร์บอนได้ถึง 2.4 แสนตันคาร์บอนต่อปี
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า ภาษีน้ำมันที่เก็บได้ต่ำ มีสาเหตุจากรัฐบาลต้องดูแลภาระของประชาชน ซึ่งกระทบรายได้เดือนละ 20,000 ล้านบาท ขณะที่มาตรการอีวี 3.0 และอีวี 3.5 ทำให้ตลาดรถอีวีโตกว่า 600% ซึ่งถือว่าจุดติดแล้ว แต่เรามีการลดภาษีรถอีวีเหลือ 2% จึงมีผลต่อรายได้
ในปีงบประมาณ 2567 กรมสรรพสามิตได้ปรับเป้าหมายจัดเก็บรายได้ที่ 598,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 25% ซึ่งเป็นการตั้งเป้าก่อนจะมีการลดภาษีน้ำมัน และก่อนรถอีวี โดยรายได้ภาษีน้ำมันมีสัดส่วนถึง 40% ของรายได้ที่กรมจัดเก็บทั้งหมด ส่วนภาษีรถยนต์มีสัดส่วน 20% รวมกันประมาณ 60% แล้ว
กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2567 กรมสรรพสามิตจัดเก็บรายได้อยู่ที่ 304,506 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 47,089 ล้านบาท หรือ 13.4% แต่สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 27,541 ล้านบาท หรือ 9.9% สำหรับการจัดเก็บภาษีรถยนต์ในเดือนล่าสุด เม.ย. 2567 จัดเก็บได้ 4,660 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 4,000 ล้านบาท หรือลดลง 46% และต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 3,700 ล้านบาท หรือต่ำเป้า 44%
ทั้งนี้ ช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2567 กรมสรรพสามิตเก็บรายได้จากภาษีรถยนต์ได้ทั้งสิ้น 44,600 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนกว่า 17,600 ล้านบาท และต่ำกว่าเอกสารงบประมาณ 18,300 ล้านบาท