คลังเปิดเงื่อนไขแลกผลกระทบภาษี ภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลก GMT 15% ชี้หากไทยไม่เก็บ ประเทศต้นทางจะเรียกเก็บอยู่ดี

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า หลังจากกรมสรรพากร เริ่มเก็บ ภาษี เงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลก (Global Minimum Tax) อัตราร้อยละ 15 เพื่อเรียกเก็บจากนิติบุคคลข้ามชาติ (Multinational Enterprises) ที่มีรายได้ไม่น้อยกว่า 750 ล้านยูโร มีผลใช้บังคับตั้งแต่ 1 มกราคม 2568 ยอมรับว่าเป็นแนวทางจัดเก็บเหมือนกันหลายประเทศทั่วโลกในสมาชิก OECD เมื่อนักลงทุนต่างชาติไปลงทุนในประเทศใดต้องเสียภาษีลักษณะเดียวกันหมด ดังนั้น หากไม่เสียในประเทศไทยก็ต้องเสียในประเทศต้นทางอยู่ดี เพราะทุกประเทศเก็บภาษีร้อยละ 15 ในลักษณะเดียวกันหมด

ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติที่ได้รับส่งเสริมจากบีโอไอ และลงทุนในประเทศมายาวนาน ทั้งตั้งโรงงานผลิตสินค้า ขยายการลงทุนด้านต่าง ๆ ดังนั้น ควรเสียภาษี GMT ในประเทศไทย โดยไม่ต้องไปเสียกับประเทศต้นทาง เพราะได้ลงทุนมาแล้ว หากเอกชนรายใดร่วมพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล สังคมสีเขียว ร่วมดูแลด้าน ESG คาร์บอนต่ำ ร่วมพัฒนาบุคคลากรไทยไปสู่สังคมดิจิทัล หากร่วมทำในปัจจัยเหล่านี้ รัฐบาลไทยพร้อมส่งเสริมดูแล ผ่านกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และกำลังศึกษามาตรการอื่นมาดูแลเพิ่มเติม เพราะมีหลายช่องทางในการดูแลเอกชนลงทุนในประเทศไทย

สำหรับการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลก (Global Minimum Tax) อัตราร้อยละ 15 หากไทยไม่เก็บ ประเทศต้นทางจะเก็บภาษีดังกล่าวอยู่ดี เพราะเป็นกติกาหลายประเทศทั่วโลกจัดทำด้วยกัน ยอมรับว่ากระทบต่อบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นเพียงบางราย แต่ไม่ใช่กระทบกับบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด ขณะนี้การจัดเก็บภาษียุคใหม่ทั่วโลก จะไม่แข่งขันในการลดภาษี เมื่อไทยมีสิทธิ์ในกลุ่ม OECD จึงต้องออกกฎหมายเก็บภาษีดังกล่าว ส่วนการใช้เงินกองทุนขีดความสามารถในการแข่งขันดูแล ต้องเสนอขอจัดสรรงบประมาณ จากเบื้องต้นเงินกองทุนประเดิมมีอยู่ 50,000 ล้านบาท ต้องดูว่าบีไอโอใช้ไปเท่าไรแล้ว และต้องใช้เพิ่มอีกอย่างไรต้องหารือกันเพิ่มเติม

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles