นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการกำกับการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตว่าสำนักงบประมาณ และกระทรวงการคลัง ได้มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแหล่งเงินที่จะใช้ในโครงการว่า อาจจะไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้เงินของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐแล้ว เนื่องจากตามข้อศึกษาของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) พบว่า การดำเนินโครงการของรัฐในอดีตที่ผ่านมา เช่น โครงการคนละครึ่ง จะมียอดผู้ใช้สิทธิ์ไม่เกิน 90% ดังนั้นในโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ซึ่งรัฐบาลยังยืนยันจะครอบคลุมประชาชน 50 ล้านคนเช่นเดิม แต่กระบวนการในการเตรียมงบประมาณเพื่อรองรับการดำเนินการคงไม่เกิน 90% หรือใช้เงินประมาณราว 4.5 แสนล้าบบาทเท่านั้น ซึ่งสามารถใช้วิธีการบริหารจัดการด้วยวิธีงบประมาณตามปกติได้ แบ่งเป็น การดำเนินการผ่านงบประมาณปี 2567 ที่จะมีการตั้งงบประมาณราว 1.6 แสนล้านบาท ประกอบด้วย งบประมาณเพิ่มเติม 1.22 แสนล้าบาท และงบประมาณจากการบริหารจัดการในส่วนต่างๆ อีกราว 4.3 หมื่นล้านบาท และในปีงบประมาณ 2568 จะมีการตั้งงบประมาณ 2.8 แสนกว่าล้านบาท มาจากการตั้งงบประมาณ 1.52 แสนล้านบาท และจากการบริหารจัดการงบประมาณในส่วนอื่นๆ อีกราว 1.32 แสนล้านบาท ซึ่งสุดท้ายเชื่อว่าจะเพียงพอรองรับการดำเนินการ
ส่วนข้อสรุปว่าจะใช้ยอดเงินเท่าไรนั้น คงต้องรอดูยอดที่ประชาชนมาลงทะเบียนด้วย อาจจะ 48 ล้านคน งบตรงนี้ก็ครอบคลุม ซึ่งตอนนี้วางแผนว่าจะปิดลงทะเบียนก่อนสิ้นเดือน ก.ย. จากนั้นจึงจะสรุปกันอีกครั้ง โดยจะใช้กลไกในการบริหารงบเข้ามาดูว่าจะต้องใช้เงินมากหรือน้อยกว่าที่ตั้งไว้ โดยยังตั้งเป้า 50 ล้านคนเช่นเดิม แต่จากประสบการณ์ในอดีต จะมีประชาชนมาลงทะเบียนไม่เต็มตามเป้าหมาย หลักๆ ไม่เกิน 90% สำนักงบประมาณและคลังจึงมีข้อเสนอให้ใช้กระบวนการในการบริหารงบประมาณแทนในวงเงิน 4.5 แสนล้านบาท ซึ่งท้ายที่สุดหากต้องใช้เงินในโครงการน้อยกว่าที่ตั้งไว้ ก็นำเงินส่วนที่เหลือไปใช้ในโครงการอื่นที่เป็นการพัฒนา หรือปรับโครงสร้างเศรษฐกิจประเทศได้ แต่หากจำเป็นต้องใช้เงินมากกว่าที่ตั้งไว้ก็จะใช้วิธีการบริหารจัดการงบเอาเงินมาเติม
นายจุลพันธ์ยืนยันว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะดำเนินการได้แน่นอน ส่วนจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่นั้น นายจุลพันธ์ย้ำว่ารายละเอียดต่างๆ ยังเป็นเพียงข้อเสนอ ซึ่งจะต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ตที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในวันที่ 15 ก.ค. นี้ ซึ่งท้ายที่สุดจะมีข้อสรุป หรือข้อคิดเห็นอย่างไรคงขึ้นอยู่กับมติที่ประชุม และจะมีการแถลงรายละเอียดเรื่องวันลงทะเบียน วิธีการ และช่องทางต่างๆ ในวันที่ 24 ก.ค. 67
ขณะที่การใช้เงิน ธ.ก.ส. ตามมาตรา 28 ซึ่งตามข้อเสนอระบุว่า อาจจะไม่มีความจำเป็นแล้วนั้น นายจุลพันธ์ กล่าวว่า แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีข้อห่วงใยจากหลายฝ่ายในส่วนนี้ แต่ก็อยากยืนยันว่าหากต้องดำเนินการจริง ก็ไม่มีปัญหาอะไร พร้อมทั้งยืนยันว่าเงินดิจิทัล 10,000 บาท จะถึงมือประชาชนภายในสิ้นปีนี้อย่างแน่นอน พร้อมยืนยันว่าข้อเสนอเรื่องการใช้วิธีการบริหารงบประมาณแทนนั้น อาจจะมีผลกับโครงการลงทุนตามงบลงทุนบ้าง แต่ไม่มีผลกระทบในเรื่องเกณฑ์ตาม พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลัง
ทั้งนี้ ในส่วนของคุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการยังเป็นไปตามเดิม คือต้องเป็นผู้มีอายุ 16 ปี กำหนดวันตัดสิทธิ คือ วันที่ 30 ก.ย. 67 หรือวันสุดท้ายของการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ เกณฑ์รายได้วัดจากฐานข้อมูลเงินได้ของกรมสรรพากร ณ ปี 2566 ซึ่งสิ้นสุดไปแล้วเมื่อ 31 ธ.ค. 66 กำหนดว่าจะต้องไม่เกิน 8.4 แสนบาท หรือมีเงินเดือนไม่เกิน 7 หมื่นบาท และต้องเป็นผู้มีเงินฝากไม่เกิน 5 แสนบาท ณ วันที่ 31 มี.ค. 67
ส่วนสินค้า Negative List ได้ข้อสรุปแล้วว่าเครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์สื่อสาร ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ ขณะที่ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการและต้องการนำเงินออก จะต้องมีการผูกเบอร์โทรศัพท์แบบรายเดือนเข้ากับระบบด้วย นอกเหนือจากต้องเป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี เพื่อป้องกันหากมีปัญหาจะสามารถตามตัวได้
สำหรับแอปพลิเคชันที่จะใช้นั้น สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สพร. หรือ DGA อยู่ระหว่างการพัฒนา ซึ่งยืนยันว่าจะเสร็จทันภายในปีนี้แน่นอน
ด้านนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.การคลัง กล่าวว่า ยืนยันว่าวันนี้จะมีเงินเพียงพอรองรับเท่ากับจำนวนประชาชนที่มาลงทะเบียนแน่นอน เพื่อให้ถูกต้องตาม พ.ร.บ. เงินตรา ส่วนเงื่อนไขในโครงการทั้งหมด ได้ถูกออกแบบมาเพื่อให้เงินมีการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากที่สุด
นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่า วงเงิน 1.3 แสนล้านบาท ที่จะใช้ในปีงบประมาณ 2568 นั้น จะมาจากการบริหารจัดการทางการคลัง และวิธีงบประมาณ ซึ่งมีหลายวิธี เช่น การบริหารงบประมาณของหน่วยรับงบประมาณ ซึ่งจะต้องไปดูใกล้ชิดว่ามีประสิทธิภาพหรือไม่ ถ้าบริหารจัดการแล้ว อาจจะมีส่วนที่ไม่สามารถใช้ได้ทัน ก็ปรับมาใช้ในส่วนนี้ หรือบางรายการที่สามารถโอนเปลี่ยนแปลงมาใส่ในรายการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ซึ่งมั่นใจว่าวงเงินดังกล่าวจะสามารถบริหารจัดการได้แน่นอน และไม่มีผลกระทบกับงบลงทุนให้มีการเปลี่ยนแปลง