เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กำลังเตรียมหารือธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือเครดิตบูโร เพื่อหาแนวทางผ่อนปรนหรือช่วยลูกหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) จากผลกระทบของโควิด-19 หรือลูกหนี้รหัส 21 ให้หลุดจากการติดบัญชีดำเร็วขึ้น และสามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้อีกครั้ง
โดยในลูกหนี้กลุ่มเอ็นพีแอลตามรหัส 21 ของธปท. เป็นกลุ่มผู้ประกอบกธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ปัจจุบันมีอยู่ราว 4 ล้านบัญชี ซึ่งตามเงื่อนไขของเครดิตบูโร ลูกหนี้เหล่านี้จะหลุดจากบัญชีภายในปี 1-2 ปีข้างหน้านี้ แต่รัฐบาลอยากให้เร็วขึ้น ซึ่งตามในเงื่อนไขของเครดิตบูโร กรณีลูกหนี้สถาบันการเงินกลายเป็นเอ็นพีแอลหรือค้างชำระหนี้ตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป หากไม่ดำเนินการแก้ไขจะต้องอยู่ในบัญชีดำมีอายุความนาน 5 ปี และหลังจากหลุดบัญชีดำแล้ว ข้อมูลของลูกหนี้ดังกล่าวก็ยังถูกจัดเก็บประวัติในเครดิตบูโรอีก 3 ปี รวมเป็น 8 ปี
“8 ปีถือว่ายาวนานเกินไป เหมือนติดคุก จะขอสินเชื่อก็ไม่ได้ การที่รัฐจะเข้ามาช่วยลูกหนี้รหัส 21 ดังกล่าวไม่น่าจะถูกมองว่าเสียวินัย เนื่องจากลูกหนี้กลุ่มนี้ได้รับผลกระทบจากโควิด ส่วนกลุ่มอื่นๆต้องพิจารณาตามความเหมาะสม”นายจุลพันธ์ กล่าว