นายพชร อนันตศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า สบน.เตรียมเปิดจำหน่าย พันธบัตรออมทรัพย์ ของกระทรวงการคลัง ในปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ครั้งที่ 2 วงเงินรวม 40,000 ล้านบาท รุ่นอายุ 5 ปี และ 10 ปี โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bond Yield) ในครั้งนี้จะถือว่าสูงที่สุดและจะไม่มีถึงระดับนี้อีกแล้วในรอบ 5 ปี
ทั้งนี้ สบน.จะเริ่มจำหน่ายวันที่ 13 ส.ค. ส่วนรายละเอียดและอัตราดอกเบี้ยจะมีการแถลงข่าวในวันนี้ (30 ก.ค.) เวลา 14.00 น.
สำหรับในปีงบประมาณ 2567 เป็นการระดมทุนในการออกพันธบัตรรวม 80,000 ล้านบาท ลดลงจากกรอบแผนการระดมทุนจากการออกพันธบัตรรัฐบาลเดิมที่ตั้งไว้ 100,000 ล้านบาท เนื่องจากยังมีเงินคงคลังที่เพียงพอ แม้ว่าการจัดเก็บรายได้ในปี 2567 จะต่ำกว่าที่ประมาณการตามเอกสารงบประมาณ แต่ถือว่ายังอยู่ในระดับสูง
โดยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2567 ที่เป็นช่วงรอยต่อการใช้จ่ายเงินงบประมาณที่กระจุกตัวถึง 3 ส่วน ได้แก่ การเบิกจ่ายงบประมาณช่วงสิ้นปี 2567 งบฯ กลางปี 2567 และการเบิกจ่ายช่วงต้นปี 2568 ซึ่งสบน.ได้เตรียมแผนระดมทุนไว้เรียบร้อยแล้ว โดยได้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อไม้ให้กระทบกับสภาพคล่องในตลาดเงิน
“ในช่วงที่เหลือของปีนี้จะมีเม็ดเงินที่เข้าสู่ระบบจำนวนมาก จากกระบวนการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณถึง 3 ส่วนที่กล่าวมาซึ่งจะมีการเบิกจ่ายออกไปมากในช่วงเดือน ส.ค. จึงเชื่อว่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ GDP ในปีนี้ปรับขึ้นอย่างแน่นอน“
นอกจากนี้ สบน.จะมีแผนการระดมทุนโดยการอออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Linked Bond) วงเงินไม่เกิน 30,000 ล้านบาท ภายในปีงบประมาณ 2567 โดยกำหนดอายุพันธบัตรไว้ที่ 15 ปี ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มออกไปพบกับนักลงทุน และอยู่ระหว่างการนำตัวชี้วัดที่อ้างอิงกับสิ่งแวดล้อมมากำหนดอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม
ทั้งนี้ ความท้าทายของการต่อสู้กับปัญหา Climate Change ทําให้ สบน.ในฐานะหน่วยงานระดมทุน มีความพยายามปรับแนวทางการดําเนินงานทั้งภายใน และบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภายนอก เพื่อให้การจัดสรรเงินระดมทุนเกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ขณะที่การออกพันธบัตรสกุลเงินตราต่างประเทศ (Foreign Curency Bond) ยังอยู่ระหว่างการศึกษาและเตรียมพร้อมเพื่อรอจังหวะที่จะเสนอขาย อย่างไรก็ตามยังชะลอออกไปจากปีงบประมาณเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยต่างประเทศยังอยู่ในระดับสูงและมีความแตกต่างตากดอกเบี้ยในประเทศมาก ซึ่งจะทำให้รัฐบาลมีต้นทุน