ความเชื่อมั่นนักธุรกิจถอยหลังต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ห่วงขึ้นค่าแรงกระทบธุรกิจ กังวลกำลังซื้อหดหาย

ความเชื่อมั่นนักธุรกิจ ถอยหลังต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ห่วงขึ้นค่าแรงกระทบธุรกิจ กังวลกำลังซื้อหดหาย

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (นักธุรกิจ) เดือนมิถุนายน 2567 ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นของภาคธุรกิจ และหอการค้าทั่วประเทศ จำนวน 369 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 24-28 มิ.ย. 67 พบว่าปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 อยู่ที่ระดับ 54.2 โดยเป็นการปรับตัวลดลงในทุกภูมิภาค แม้ในภาพรวมยังเกินกว่าค่ากลางระดับ 50 แต่ตัวชี้วัด ทั้งเศรษฐกิจโดยรวม การบริโภค การลงทุน ภาคท่องเที่ยว ภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ภาคการค้า การค้าชายแดน และภาคบริการ รวมถึงการจ้างงาน เริ่มปรับตัวลดลงทุกด้าน สะท้อนถึงสัญญาณเศรษฐกิจที่ชะลอตัว

ซึ่งนักธุรกิจชี้ปัจจัยต่อความเชื่อมั่นลดลงแรง หลักๆ คือกำลังซื้อประชาชนหายไปมาก หนี้ครัวเรือนสูง สวนทางต้นทุนธุรกิจเพิ่มต่อเนื่อง ราคาสินค้าแพง การเข้าถึงแหล่งเงินกู้ลดลง ส่งผลให้เริ่มขาดสภาพคล่องทางการเงิน อาจชะลอการลงทุนและการจ้างงานในอนาคต แม้ภาคบริการจากท่องเที่ยวและการจัดกิจกรรมมีมากขึ้นแต่เป็นการกระจุกตัว และไม่ฟื้นเท่าเดิม ดังนั้นภาคธุรกิจได้เสนอแนวทางขอให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหา คือเร่งออกมาตรการกระตุ้นใช้จ่ายต่อเนื่อง ทั้งในภาคประชาชน ท่องเที่ยว และลงทุน ดูแลต้นทุนโครงสร้างพื้นฐานและค่าใช้จ่ายการทำธุรกิจ เพิ่มแหล่งเงินเข้าถึงทุน และออกมาตรการช่วยเหลือเพิ่มศักยภาพการหาตลาดใหม่ ลดกระทบจากสภาพอากาศแปรปรวน และดูแลเสถียรค่าเงินบาท

ทั้งนี้ภาคธุรกิจมีความห่วงใยเพิ่มขึ้นต่อทิศทางการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวัน ซึ่งแม้คณะกรรมการไตรภาคีจะยังไม่สรุปชัดเจนว่าจะให้ปรับขึ้นได้ 400 บาทต่อวันทั่วประเทศหรือไม่ก็ตาม ซึ่งต้องติดตามว่าหากมีการปรับขึ้นจริง รัฐบาลจะมีมาตรการบรรเทาผลกระทบนี้ให้กับภาคธุรกิจอย่างไร เช่น การเพิ่มวงเงินหักลดหย่อนภาษีได้มากขึ้น หรือการช่วยให้ SMEs สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น เป็นต้น นอกจากนี้ต้องการให้รัฐบาลแก้ไขไขหนี้ครัวเรือน การเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับธุรกิจโดยรวม ซึ่งโดยรวมหลายภาคมองว่าต้องการให้รับบาลเร่งหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทุกด้านด่วน หากไม่มีมาตรการที่ชัดเจนก็เชื่อว่าโอกาสความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในเดือน ก.ค.นี้จะปรับลดลงได้อีก

“ที่เห็นชัดเจนคือการชะลอตัวของการใช้จ่ายผู้บริโภคทั้งการซื้อรถยนต์ ซื้อบ้าน ท่องเที่ยว และลงทุนในกลุ่มเอสเอ็มอี ระบุว่าไม่เหมาะสมและแย่ลงมากถึงสัดส่วน 60% มุมมองต่อสถานการณ์การเมืองต่ำสุดในรอบ 10 เดือนนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาลนี้เพิ่งเข้าบริหารประเทศ จึงมีผลต่อค่าวัดความสุขในการดำรงชีวิตต่ำสุดในรอบ 10 เดือนเช่นกัน ส่วนต้นทุนทั้งจากค่าไฟ ดีเซล เบนซิน และวัตถุดิบที่เริ่มสูง ธุรกิจมองว่าจะเพิ่มต้นทุนอีก 5-10% ที่ต้องแบกรับ และอาจต้องผลักภาระให้ผู้บริโภคบางส่วน” นายธนวรรธน์กล่าว

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles