ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ปัญหาที่คนทำหมู่บ้านจัดสรรต้องเจอ คือถูกเจ้าหน้าที่รัฐเรียกสินบนแลกกับการออกใบอนุญาตทุกขั้นตอนตั้งแต่ก่อนเริ่มโครงการจนขายโอนกรรมสิทธิ์ให้ลูกค้า แต่ผู้ประกอบการในจังหวัดสมุทรปราการและชลบุรีพากันโอดครวญว่า พวกเขาถูกรีดไถโหดกว่าทุกจังหวัดในประเทศไทยเพราะบ้านใหญ่นักการเมือง
“เราต้องจ่ายสินบนเป็นเงินเฉลี่ยหลังละ 50,000 บาท แล้วยังต้องจ่ายให้เจ้าหน้าที่สารพัดหน่วยที่มาตรวจตราระหว่างการก่อสร้างอีก ต้นทุนก้อนนี้ต้องบวกเป็นราคาขายทำให้ประชาชนต้องซื้อบ้านแพงขึ้น” กลุ่มนักธุรกิจหมู่บ้านจัดสรรให้ข้อมูลสอดคล้องกัน
เมื่อถามว่าทำไมอัตราสินบนที่นี่จึงแพงมาก เทียบกับผู้ประกอบการรายใหญ่ต้องจ่ายใน กทม. (CAC/IOD, 2562) หรือแม้แต่จังหวัดที่เศรษฐกิจดีอย่างเช่น ระยอง ปทุมธานี ราชบุรี คำตอบคือ “เพราะที่นี่มีบ้านใหญ่นักการเมือง คอยจัดการและคุ้มครองกันหากเกิดปัญหา ส่วนข้าราชการในพื้นที่ก็อ่านเกมกินตามน้ำอย่างฮึกเหิมไม่กลัวใคร การรีดไถที่นี่จึงแพงโหดกว่าจังหวัดอื่น”
รายการสินบนที่นักธุรกิจบ้านจัดสรรต้องจ่าย เช่น
- การโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเมื่อซื้อขาย ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายที่ดินต้องจ่ายเจ้าหน้าที่เป็นค่าอำนวยความสะดวกฝ่ายละ 1 แสนบาท
- ค่าใบอนุญาตถมที่ดิน 1 ล้านบาท (เงินเข้า อบต. จริง ไม่กี่พันบาทต่อใบอนุญาต)
- ค่าถมดินมีสองแบบคือ ถ้าที่ดินบริเวณนั้นราคาตลาดค่าถมดินอยู่ที่ 2 แสนบาทต่อไร่ ผู้ประกอบการต้องจ้างคนใน อบต. รับเหมาถมที่ในราคา 2.1 – 2.2 แสนบาทต่อไร่ แต่หากไปจ้างผู้รับเหมาอื่นต้องจ่ายเงินกินเปล่าตามจำนวนดิน “คิว” ละ 50 บาท เช่น ใช้ดิน 500 คิวต้องจ่าย 2.5 แสนบาท เป็นต้น
- ค่าขอแยกโฉนดแปลงละ 2,000–5,000 บาท หากมีที่ดิน 300 แปลงก็ 1.5 ล้านบาท
- ค่าขอใบอนุญาตจัดสรรที่ดิน แปลงละ 4,500 บาท ถ้าโครงการนั้นมี 300 แปลง ก็ต้องจ่าย 1.35 ล้านบาท ใบอนุญาตมีอายุ 1 ปี หากพ้นกำหนดต้องยื่นขอต่ออายุและต้องจ่ายสินบนอีกครั้ง
- ค่าใบอนุญาตก่อสร้าง หลังละ 4,500–5,000 บาท ถ้า 200 หลังก็ 1 ล้านบาท
- ค่ายื่นขอเลขที่บ้าน (สำเนาทะเบียนบ้าน) หลังละ 500–2,000 บาท
- หากที่ดินติดคลองติดลำห้วย ต้องวิ่งเจ้าท่า ถ้าทำสะพานต้องจ้างคนของ อบต. ให้เขียนแบบก่อสร้าง แล้วไปจ่ายหนักค่าใบอนุญาตก่อสร้างให้คนในกรมเจ้าท่าอีก 2 แสนถึง 8 แสนบาท
- เชื่อมท่อระบายน้ำจากหมู่บ้านสู่ท่อสาธารณะ จุดละ 2 แสนบาท เรื่องนี้เดิม อบต.เป็นผู้อนุมัติ ปัจจุบันต้องส่งให้อำเภอ แล้วไปจบที่จังหวัด รวมแล้วต้องจ่ายทั้ง 3 หน่วยงาน การเชื่อมทางกับถนนสาธารณะ ทำทางเดิน ขอมิเตอร์ประปา – ไฟฟ้า ตัดต้นไม้กีดขวางทางเข้าออก ตั้งป้ายโฆษณา ทุกอย่างล้วนมีราคาต้องจ่าย
- หากหน่วยราชการนัดประชุมชี้แจง บางทีเขาก็ขอไปใช้ห้องประชุม อบต. แต่ต้องจ่ายค่าเช่าห้องแพงมาก เคยถูกเรียกถึง 1.5 แสนบาทต่อครั้งก็มี (ไป อบต. เพื่อให้ดูเป็นทางการและช่วยกันทำเงิน) แทนที่จะใช้ห้องประชุมของเอกชน โรงแรมหรือร้านอาหาร
- ระหว่างการก่อสร้าง ยังต้องจ่ายค่ามองไม่เห็นให้หน่วยงานที่มาตรวจตราหรืออ้างว่ามีผู้ร้องเรียน โดยอ้างว่าเป็นตำรวจท้องที่ ตำรวจทางหลวง กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท ตรวจคนเข้าเมือง แรงงาน เทศบาล ฯลฯ จ่ายเป็นรายเดือนหรือรายครั้งแล้วแต่กรณี
- สุดท้ายเมื่อไปทำเรื่องโอนกรรมสิทธิ์หรือจดจำนองบ้านให้ลูกค้า ต้องจ่ายหลังละ 1,000 บาท
เรื่องท้อใจของคนทำหมู่บ้านจัดสรรคือ “ทุกโครงการแม้ทำถูกต้องทุกประการ ผ่านการทำเวทีประชาคม ทำ EIA มาอย่างดีก็ต้องจ่ายใต้โต๊ะเหมือนกันหมด” ที่น่าสังเวชคือ พวกมาตรวจงานก่อนออกใบอนุญาตชอบพาคนที่อ้างว่าเป็นคณะกรรมการมาด้วยจำนวนมาก มากถึง 20 คนก็เจอมาแล้ว ต้องให้ซองค่าเบี้ยเลี้ยงหัวละ 2,000 ถึง 3,000 บาทรวมคนขับรถ แถมยังชอบมาเวลาใกล้มื้อเที่ยงเสียด้วย!!
โดยรวมโครงการหมู่บ้านจัดสรรขนาด 200–300 หลังขึ้นไป มีต้นทุนเป็นเงินสินบน 5 หมื่นบาทต่อหลัง ขณะที่โครงการขนาดเล็ก 20–50 หลัง เงินสินบนเฉลี่ยอาจมากถึง 1–2 แสนบาทต่อหลัง
ทั่วประเทศสินบนที่ต้องจ่ายเพื่อให้ได้ใบอนุญาตจาก 15–22 หน่วยงาน (ป.ป.ช., 2567) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 80 ขณะที่เงินค่าธรรมเนียมที่จ่ายให้รัฐจริงมีเพียงร้อยละ 20 เท่านั้น (ป.ป.ท., 2565) กลายเป็นว่าเรียกรับสินบนแล้วสมประโยชน์กัน คนรับรวย คนจ่ายช้ำใจ ประชาชนรับกรรม
คอร์รัปชันได้ส่งผลกระทบต่อปัญหาปากท้องของประชาชนอย่างไม่อาจเลี่ยง.. ประชาชนต้องซื้อบ้านราคาแพงขึ้น เพราะถูกบวกด้วยต้นทุนจากการจ่ายสินบนและดอกเบี้ยเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้นจากความล่าช้าเพราะเจ้าหน้าที่เจตนาหน่วงเหนี่ยว ทั้งหมดนี้คือต้นทุนจากคอร์รัปชัน สุดท้ายประชาชนก็กลายเป็น “เดอะแบก” ดอกเบี้ยผ่อนบ้านหัวโต แบกรับค่าครองชีพที่สูงขึ้นเพราะบ้านหลังหนึ่งผ่อนนาน 20 – 30 ปี โกงกันซึ่งๆ หน้าไม่อายใคร แล้วเราจะส่งมอบอนาคตแบบนี้ให้ลูกหลานของเราได้หรือครับ