นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท.เปิดเผยสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในงานพบสื่อมวลชน หรือ Meet the Press ในไทยว่า ศักยภาพของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 3% ความเห็นหลายฝ่ายมองว่าธนาคารแห่งประเทศไทยมองเศรษฐกิจดีเกินไป และไม่เห็นความลำบากของคน การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเป็นเพียงตัวเลขภาพรวม โดยค่าเฉลี่ยของคน แต่เข้าใจดีว่าที่ซ่อนอยู่คือ ความลำบากและความทุกข์ของประชาชนอีกหลายกลุ่ม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจากวิกฤติโควิด-19 เมื่อเปรียบเทียบกับเศรษฐกิจโลกถือว่าฟื้นตัวได้ค่อนข้างช้าอย่างเห็นได้ชัด แต่ในภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวและทยอยกลับเข้าสู่ศักยภาพของไทย
ผู้ว่าแบงก์ชาติ กล่าวต่อไปว่า ดูจากตัวเลขรายได้ของลูกจ้างนอกภาคเกษตร กลุ่มที่ประกอบอาชีพอิสระ ภาคการบริการ การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมที่เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ทำให้เมื่อผ่านช่วงโรคโควิด-19 มาต้องเผชิญกับหลุมรายได้ที่หายไป ขณะที่ค่าครองชีพมีแต่จะเพิ่มขึ้น อัตราเงินเฟ้อของไทยที่อยู่ในระดับต่ำนั้น ไม่ได้หมายความว่าราคาสินค้าต่ำลง ปัจจุบันราคาสินค้าเมื่อเทียบกับ 5 ปีก่อน ปรับเพิ่มขึ้นมา ทั้งสินค้าพลังงาน ไข่ไก่ เนื้อหมู รวมถึงการซ้ำเติมจากหนี้ครัวเรือนของประชาชน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นความทุกข์ยากและความลำบากของคน
ภาคอุตสาหกรรมไทยรับผลกระทบเชิงโครงสร้างที่หนักขึ้น จากการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นไม่ใช่เพียงอุปสงค์ที่หายไปเท่านั้น แต่ยังได้รับการซ้ำเติมจากอุปทานจากต่างประเทศ ขณะที่ความสามารถในการแข่งการผลิตในประเทศที่เคยเป็นพระเอกไม่ตอบโจทย์กระแสใหม่ของโลกที่กำลังก้าวไปสู่เอไอ เช่น ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ปิโตรเคมี และเหล็ก
ศักยภาพเศรษฐกิจไทยเหลือแค่ 3% ดังนั้นต้องปรับจูนความคาดหวังต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่มองว่าจะกลับมาฟื้นตัวถึง 5% เพราะศักยภาพของเศรษฐกิจไทยปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 3% หากอยากให้ขยายตัวมากกว่า 3% นี้ จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง มีการลงทุนและเทคโนโลยีใหม่ แต่ไม่ได้มาจากการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะหากความสามารถเราเท่าเดิมจะกระตุ้นให้ตายก็กลับมาที่ศักยภาพเท่าเดิมคือ 3% ความสามารถในการเติบโตของเศรษฐกิจไทยต้องขึ้นอยู่กับการขยายตัวของแรงงานและประสิทธิภาพของแรงงานด้วย ซึ่งประเทศไทยกำลังเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัยซึ่งทำให้การขยายตัวของกำลังแรงงานลดลง ประสิทธิภาพการผลิตยังเท่าเดิมกับที่ผ่านมา ซึ่งอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ 3% ไม่ถือเป็นตัวเลขที่เพียงพอ เมื่อเทียบกับระดับรายได้ ความยากจนและความเหลื่อมล้ำ
ผู้ว่าการแบงก์ชาติ กล่าวต่อไปว่า สำหรับอัตราดอกเบี้ยนั้น มีการดำเนินนโยบายการเงินให้อยู่ในกรอบเงินเฟ้ออย่างยืดหยุ่น โดยดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบัน 2.50% เป็นอัตราที่มีความเหมาะสมและสอดคล้องการประเมินสถานการณ์ข้างหน้า แต่ถ้าในอนาคตปัจจัยต่างๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงไปก็พร้อมที่จะพิจารณาความเหมาะสมอีกครั้ง การกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจึงไม่ได้พิจารณาแค่เงินเฟ้อเท่านั้น แต่ยังต้องพิจารณาถึงการเติบโตของเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางการเงิน จึงไม่ได้เป็นสูตรตายตัวว่าเงินเฟ้อต่ำและจะต้องลดอัตราดอกเบี้ย เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ที่มีกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ไม่อย่างนั้นก็ไม่จำเป็นต้องมีคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ก็ใช้เอไอตัดสินใจได้แทน
นอกจากนี้ การใช้เครื่องมือทางการเงินที่เรียกว่าดอกเบี้ยนโยบายจะต้องชั่งน้ำหนักในหลายมิติและดูผลข้างเคียง และมองไปข้างหน้าว่าเทรนด์เป็นอย่างไร ซึ่งเงินเฟ้อในช่วงครึ่งปีแรกใกล้ศูนย์ แต่ในครึ่งปีหลังจะขยายตัว 1.1% ทำให้ทั้งปีคาดว่าเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 0.6% รวมถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นซึ่งเกิดจากการกำหนดดอกเบี้ยยโบบายในระดับที่ต่ำเป็นเวลานาน ซึ่งจะทำให้เสถียรภาพด้านการเงินเสื่อมลง
นอกจากการพิจารณาดอกเบี้ยนโนบายแล้ว ยังมีเครื่องมืออื่นที่จะช่วยขับเคลื่อนนโยบายด้านการเงินได้ และลดผลกระทบต่างๆ ลงได้ เช่น มาตรการดูแลอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งมีเป้าหมายในการดูแลเงินบาทไม่ให้มีความผันผวน มาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน เช่น การผ่อนเกณฑ์ LTV ชั่วคราว นอกจากนี้ยังมีมาตรการทางการเงินเข้ามาเสริม โดยเฉพาะการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน การแก้ปัญหาสภาพคล่อง หากเราพึ่งแค่เรื่องของดอกเบี้ยนโยบาย จะลำบาก จึงต้องใช้เครื่องมืออื่นๆ เข้ามาเสริม และทำแบบผสมผสาน
สำหรับสินค้าจีนที่กระทบโครงสร้างผลิตของไทยนั้น น่าเป็นห่วงมากกว่า คือการแข่งขันจากสินค้าจีนที่เข้ามา กำลังการผลิตจีนมีอยู่มาก แต่อุปสงค์ในประเทศยังไม่โต ทำให้สินค้าจีนส่งออกมามากขึ้น ผนวกกับการกีดกันทางการค้าของสหรัฐ และยุโรปลำบาก ก็จะส่งมาในอาเซียนมากขึ้น อาทิ สินค้ากลุ่มวัสดุก่อสร้าง