ค่าเงินบาทขยับอ่อนค่าลง ตามดอลลาร์แข็งค่า โฟลว์ซื้อทองย่อตัว

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาท วันนี้เปิดที่ระดับ  36.23 บาทต่อดอลลาร์อ่อนค่าลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  36.13 บาทต่อดอลลาร์สำหรับ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.10-36.35 บาทต่อดอลลาร์ 

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา ค่าเงินบาทพลิกกลับมาทยอยอ่อนค่าลง (แกว่งตัวในช่วง 36.10-36.25 บาทต่อดอลลาร์) ตามจังหวะการแข็งค่าขึ้นบ้างของเงินดอลลาร์ ที่ได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าลงต่อเนื่องของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) จนทดสอบระดับแนวต้านระยะสั้นแถว 155.50 เยนต่อดอลลาร์ ท่ามกลางมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เริ่มไม่แน่ใจว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะสามารถทยอยขึ้นดอกเบี้ยต่อได้ในปีนี้ หลังเศรษฐกิจญี่ปุ่นหดตัวมากกว่าคาดในไตรมาสแรกของปีนี้ 

อีกทั้ง บรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างก็ยังคงย้ำจุดยืน ไม่รีบลดดอกเบี้ย จนกว่าจะเห็นสัญญาณการชะลอตัวลงของอัตราเงินเฟ้อที่ชัดเจน  นอกจากนี้ โฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงบ้างในช่วงคืนที่ผ่านมา ซึ่งการพลิกกลับมาอ่อนค่าลงของเงินบาทก็สอดคล้องกับที่เราได้ประเมินไว้ในวันก่อนว่า เงินบาทอาจแกว่งตัวแถวโซน 36.20 บาทต่อดอลลาร์ โดยมีแนวรับหลัก 36.00 บาทต่อดอลลาร์ จนกว่าจะมีปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม 

แนวโน้มค่าเงินบาท เรายังคงมุมมองเดิมว่า โมเมนตัมการแข็งค่าของเงินบาทอาจชะลอลงบ้าง ทำให้ เงินบาทเริ่มแกว่งตัว sideways แถวโซน 36.20-36.30 บาทต่อดอลลาร์ได้ จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม ทั้งนี้ จากการศึกษาข้อมูลในอดีต พบว่า การแข็งค่าหลุดโซนแนวรับเส้นค่าเฉลี่ย 50 วันนั้น อาจทำให้ในระยะสั้นเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้นและแกว่งตัว sideways หลังจากนั้นได้บ้าง และหากมีปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่ากลับเข้ามา เงินบาทก็อาจผันผวนกลับไปอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้านเส้นค่าเฉลี่ย 50 วันได้บ้าง ซึ่งต้องจับตาแนวต้านแรกระยะสั้นจะอยู่แถว 36.35 บาทต่อดอลลาร์ เพราะหากเงินบาทสามารถอ่อนค่าทะลุโซนดังกล่าวได้ชัดเจน ก็อาจเปิดโอกาสให้เงินบาทอ่อนค่าลงกลับไปทดสอบแนวต้านสำคัญแถว 36.50 บาทต่อดอลลาร์ ได้ โดยเรามองว่า ปัจจัยที่อาจกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าในระยะสั้น อาจต้องรอจับตาทิศทางเงินหยวนจีน หลังตลาดรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของจีน รวมถึงรอลุ้น รายงาน GDP ไตรมาสแรกของไทย ในสัปดาห์หน้า

เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังคงเคลื่อนไหวผันผวนสูง ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles