นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า “ค่าเงินบาทวันนี้” เปิดเช้านี้ที่ระดับ 36.98 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 36.95 บาทต่อดอลลาร์ โดยมองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 36.50–37.25 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.90–37.10 บาทต่อดอลลาร์
นับตั้งแต่ช่วงวันศุกร์ ที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนอ่อนค่าลงบ้าง (แกว่งตัวในกรอบ 36.90–37.05 บาทต่อดอลลาร์) ไปตามทิศทางของเงินดอลลาร์ และราคาทองคำ โดยเงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้น ไปตามการอ่อนค่าลงต่อเนื่องของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) หลังผู้เล่นในตลาดต่างผิดหวังกับผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) อีกทั้งทางการญี่ปุ่นก็ไม่ได้เข้ามาแทรกแซงค่าเงิน ตั้งแต่ช่วงเงินเยนอ่อนค่าทะลุระดับ 155 เยนต่อดอลลาร์ อย่างที่ผู้เล่นในตลาดได้กังวลไว้
นอกจากนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ก็มีส่วนกดดันให้ราคาทองคำย่อตัวลงบ้าง ซึ่งผู้เล่นในตลาดยังคงรอจังหวะดังกล่าวเพื่อทยอยเข้าซื้อทองคำ และโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำก็มีส่วนทำให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงได้บ้าง
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาทมองว่าโมเมนตัมฝั่งอ่อนค่าได้ชะลอลง แต่ต้องจับตาทิศทางเงินดอลลาร์ที่อาจยังคงกดดันเงินบาทได้ ส่วนโฟลว์จ่ายปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติราว 1.2 หมื่นล้านบาท) ยังคงเป็นปัจจัยกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงได้ ส่วนฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติก็อาจทยอยกลับเข้าซื้อสินทรัพย์ไทยได้บ้าง ลดแรงกดดันต่อเงินบาท ทั้งนี้ควรจับตาทิศทางราคาทองคำ และค่าเงินเยนญี่ปุ่น (ที่อาจผันผวนหนัก หากทางการญี่ปุ่นเข้าแทรกแซงค่าเงินได้จริงตามที่ตลาดกังวล)
ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่าเงินดอลลาร์อาจแข็งค่าขึ้นได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด และเฟดเริ่มส่งสัญญาณว่ามีโอกาส “ขึ้น” ดอกเบี้ยได้ถ้าจำเป็น ทั้งนี้เงินดอลลาร์ก็อาจพอได้แรงหนุนบ้าง หากเงินเยนญี่ปุ่นยังอ่อนค่าลงต่อเนื่อง โดยปราศจากการเข้าแทรกแซงค่าเงินของทางการญี่ปุ่น
เราคงคำแนะนำว่าผู้เล่นในตลาดควรเลือกใช้เครื่องมือในการปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น ท่ามกลางความผันผวนของเงินบาท รวมถึงสกุลเงินอื่นๆ ที่สูงขึ้นกว่าช่วงอดีตที่ผ่านมาพอสมควร โดยผู้เล่นในตลาดอาจเลือกใช้เครื่องมือเพิ่มเติม อาทิ Options หรือ Local Currency ควบคู่ไปกับการปิดความเสี่ยงผ่านการทำสัญญา Forward
สัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้เล่นในตลาดคลายกังวลต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดลงบ้าง หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่ได้ออกมาดีกว่าคาดไปทั้งหมด
สำหรับสัปดาห์นี้ เราประเมินว่าควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ ผลการประชุม FOMC ของเฟด และรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ เช่น ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) เป็นต้น