นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทวันนี้ เปิดที่ระดับ 36.66 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.75 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.55-36.70 บาทต่อดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา ค่าเงินบาททยอยแข็งค่าขึ้น (แกว่งตัวในช่วง 36.58-36.76 บาทต่อดอลลาร์) หนุนโดยการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ และการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุด ทั้ง ดัชนี ISM PMI ภาคการบริการ ยอดการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP และ ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ล้วนออกมาแย่กว่าคาด สะท้อนภาพการชะลอลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ มากขึ้น ซึ่งทำให้ GDPNow ของทางเฟด Atlanta ปรับตัวลงเหลือ +1.5%q/q เมื่อเทียบรายปี
สำหรับไตรมาสที่ 2 ส่วนผู้เล่นในตลาดก็เพิ่มโอกาสที่เฟดจะลดดอกเบี้ยได้ 2 ครั้งในปีนี้เป็น 91% นอกจากนี้ เงินบาทยังได้แรงหนุนจากโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำ (XAUUSD) ปรับตัวขึ้นสู่โซน 2,350-2,360 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ตามการปรับตัวลดลงของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ
อย่างไรก็ดี เงินบาทก็ยังคงไม่สามารถแข็งค่าผ่านโซนแนวรับแถว 36.50-36.60 บาทต่อดอลลาร์ไปได้ง่าย ท่ามกลางแรงซื้อเงินดอลลาร์ของผู้เล่นในตลาดบางส่วน อีกทั้งเงินดอลลาร์ก็มีจังหวะรีบาวด์แข็งค่าขึ้นบ้าง ตามการอ่อนค่าลงของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY
โดยมองว่า เงินบาทอาจกลับมาผันผวนในกรอบ sideways หลังจากที่ผันผวนในกรอบที่กว้างขึ้นจริงตามที่เราคาดในวันก่อนหน้า เนื่องจากผู้เล่นในตลาดก็อาจรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ อย่าง การจ้างงานในวันศุกร์ พร้อมรอลุ้นผลการเลือกตั้งทั่วไปอังกฤษที่จะรับรู้ในช่วงเช้าตรู่ของวันศุกร์นี้เช่นกัน
ทั้งนี้ ในช่วงระหว่างวัน เงินบาทอาจพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง หลังบรรยากาศในตลาดการเงินยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง ซึ่งอาจเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติทยอยกลับเข้ามาซื้อสินทรัพย์ไทยได้บ้าง โดยเฉพาะในฝั่งหุ้น ซึ่งเรามองว่า ดัชนี SET และ SET50 อาจเกิดสัญญาณ RSI Bullish Divergence ทำให้พอลุ้นโอกาสการรีบาวด์ขึ้นได้บ้าง
อย่างไรก็ดี การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทก็อาจเป็นไปอย่างจำกัด และอาจติดอยู่แถวโซนแนวรับ 36.50-36.60 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากโซนดังกล่าวก็เริ่มเห็นแรงซื้อเงินดอลลาร์จากฝั่งผู้นำเข้าพอสมควร แต่หากเงินบาทสามารถแข็งค่าผ่านโซนดังกล่าว ซึ่งเป็นโซนเส้นค่าเฉลี่ย 50 วัน ได้ชัดเจน ก็อาจแข็งค่าต่อเนื่องทดสอบเส้นค่าเฉลี่ย 100 วัน แถว 36.40 บาทต่อดอลลาร์ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในรอบก่อนหน้าได้
ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการเลือกตั้งทั่วไปของอังกฤษ โดยจากสถิติการเลือกตั้งอังกฤษ ตั้งแต่ปี 1990 พบว่า เงินปอนด์มักจะทยอยแข็งค่าขึ้นได้ หากพรรคแรงงานสามารถคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งได้ แต่อาจจะค่อยๆ แข็งค่าขึ้น และแข็งค่าขึ้นชัดเจนในช่วง 6-12 เดือนหลังการเลือกตั้ง โดยคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่าง มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน