นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่าค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 34.60 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นมาก” จากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 34.85 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.50-34.70 บาทต่อดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง (กรอบการเคลื่อนไหว 34.53-34.87 บาทต่อดอลลาร์) หนุนโดยการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาทองคำ (XAUUSD) ราว +30 ดอลลาร์ต่อออนซ์ สู่โซน 2,610-2,620 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ท่ามกลางความกังวลสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่กลับมาทวีความร้อนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะหลังล่าสุด ทางการสหรัฐฯ ได้อนุมัติให้ยูเครนสามารถใช้ระบบอาวุธ ATACMS (MGM-140 Army Tactical Missile System) โจมตีเป้าหมายในดินแดนรัสเซีย เฉพาะในพื้นที่ Kursk Oblast เท่านั้น (ติดชายแดนทางเหนือของยูเครนไม่ห่างจากเมืองหลวง Kyiv และเมืองสำคัญอย่าง Kharkiv) ซึ่งการอนุมัติดังกล่าวของทางการสหรัฐฯ ก็ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างกังวลว่า สถานการณ์สงครามเสี่ยงบานปลายเป็นความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซียได้
ขณะเดียวกันความกังวลดังกล่าวยังได้สะท้อนผ่าน การปรับตัวขึ้นของราคาพลังงานเช่นกัน นอกจากนี้เงินบาทยังได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ในช่วงคืนที่ผ่านมา ทว่าการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทก็ถูกชะลอลงแถวโซนแนวรับ 34.50-34.60 บาทต่อดอลลาร์ ตามโฟลว์ธุรกรรมซื้อเงินดอลลาร์ในจังหวะเงินบาทแข็งค่าขึ้น รวมถึงอาจมีโฟลว์ธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับสินค้าโภคภัณฑ์อย่างน้ำมันดิบด้วยเช่นกัน หลังราคาน้ำมันดิบเริ่มกลับมาปรับตัวขึ้น และมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นต่อได้ตามความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ที่ร้อนแรงอยู่
สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท เราประเมินว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทเริ่มอ่อนกำลังลงมากขึ้น สอดคล้องกับ Call Short-term USDTHB peak ของเราเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้นต่อได้ หากราคาทองคำสามารถปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งในช่วงนี้ เรามองว่า ราคาทองคำอาจได้แรงหนุนจากสถานการณ์ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ อย่างสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่กลับมาร้อนแรงอีกครั้ง ทว่า ราคาทองคำก็อาจเผชิญแรงกดดันได้ หากผู้เล่นในตลาดยังคงเชื่อว่า เฟดจะลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่าที่ระบุไว้ใน Dot Plot พอสมควร ซึ่งจะขึ้นกับรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ที่จะทำให้ผู้เล่นในตลาดปรับเปลี่ยนมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดได้
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเงินบาทจะเริ่มกลับมาแข็งค่าขึ้นบ้าง ทว่าการแข็งค่าของเงินบาทก็อาจเป็นไปอย่างจำกัด ตราบใดที่บรรดานักลงทุนต่างชาติยังเดินหน้าทยอยขายสินทรัพย์ไทย นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ก็อาจยังพอได้แรงหนุน ในกรณีที่บรรดาธนาคารกลางหลักอื่นๆ โดยเฉพาะ BOE ยังส่งสัญญาณพร้อมทยอยลดดอกเบี้ยต่อได้ ซึ่งอาจกดดันให้เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) อ่อนค่าลง ทั้งนี้ หากเงินบาทสามารถแข็งค่าขึ้นทะลุโซนแนวรับสำคัญ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ ได้อย่างชัดเจน เรามองว่า เงินบาทมีโอกาสสูงที่จะกลับตัวเข้าสู่แนวโน้มแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องได้ หากประเมินจากกลยุทธ์ Trend Following