นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาท วันนี้ เปิดที่ระดับ 36.29 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นมาก” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.55 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.10 – 36.35 บาทต่อดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง (แกว่งตัวในช่วง 36.26 – 36.59 บาทต่อดอลลาร์) โดยเงินบาททยอยแข็งค่าขึ้น ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ และการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐ หลังรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐ ในเดือนเมษายน ชะลอลงตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้
อีกทั้ง ยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนเมษายน ก็ออกมาทรงตัว แย่กว่าที่ตลาดประเมินไว้ว่าจะขยายตัวกว่า +0.4%m/m ทำให้ผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดมากขึ้น และปรับเพิ่มโอกาสที่เฟดจะลดดอกเบี้ยราว 2 ครั้งในปีนี้ นอกจากนี้ เงินบาทยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาทองคำกว่า +30 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างทยอยขายทำกำไรทองคำ และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงคืนที่ผ่านมา
แนวโน้มค่าเงินบาท เราประเมินว่า การแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมา อาจทำให้ เงินบาทเริ่มแกว่งตัว sideways แถวแนวรับหลัก 36.25 – 36.30 บาทต่อดอลลาร์ได้ (การแข็งค่าของเงินบาทก็เป็นไปตามที่เราประเมินไว้ หลังเงินบาทแข็งค่าหลุดเส้นค่าเฉลี่ย 50 วัน) นอกจากนี้ เรามองว่า บรรดาผู้นำเข้าก็อาจทยอยเข้าซื้อเงินดอลลาร์เพิ่มเติม หลังเงินบาทได้แข็งค่าขึ้นพอสมควรในช่วงนี้ อีกทั้งโฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติก็ยังมีอยู่บ้าง ซึ่งอาจพอช่วยชะลอการแข็งค่าของเงินบาทได้ จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม
ทั้งนี้ หากเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องก็อาจยังติดโซนแนวรับหลักถัดไปแถว 36.00 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ หากเงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงบ้าง เราคาดว่า บรรดาผู้ส่งออกอาจกลับมาทยอยขายเงินดอลลาร์เพิ่มเติม หรือ ผู้เล่นในตลาดที่มีสถานะ Short THB (มองเงินบาทอ่อนค่า) ก็อาจต้องมีการปรับสถานะกันบ้าง ทำให้ เงินบาทก็อาจยังไม่สามารถอ่อนค่าทะลุโซน 36.50 บาทต่อดอลลาร์ ที่กลายมาเป็นโซนแนวต้านสำคัญในช่วงนี้ไปได้ (แนวต้านแรกระยะสั้นจะอยู่แถว 36.35 บาทต่อดอลลาร์)
โดยคาดว่าเงินบาทยังคงเคลื่อนไหวผันผวนสูง ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือ เช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน