ค่าเงินบาท เปิดตลาดแข็งค่าหนักสุดรอบ 16 เดือน ยังมีแนวโน้มผันผวน

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาท วันนี้อยู่ที่ระดับ  33.60 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าแตะระดับสูงสุดรอบ 16 เดือน และแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  33.68 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.50-34.00 บาทต่อดอลลาร์ (ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ)

ซึ่งนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ Sideways (แกว่งตัวในกรอบ 33.56-33.70 บาทต่อดอลลาร์) โดยเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม ทิศทางเงินดอลลาร์ (รวมถึงบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ) และโฟลว์ธุรกรรมซื้อ-ขายทองคำ ซึ่งเงินบาทมีจังหวะแข็งค่าขึ้นเข้าใกล้โซน 33.50 บาทต่อดอลลาร์ ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ พร้อมกับการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังยอดการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP เดือนสิงหาคม เพิ่มขึ้น 9.9 หมื่นตำแหน่ง แย่กว่าที่ตลาดประเมินไว้ว่าจะเพิ่มขึ้นเกิน 1.4 แสนต่ำแหน่ง โดยในช่วงดังกล่าวราคาทองคำก็ปรับตัวขึ้นเข้าใกล้โซนแนวต้านระยะสั้นอีกครั้ง

อย่างไรก็ดี เงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าลงบ้าง หลังรายงานดัชนี ISM PMI ภาคการบริการเดือนสิงหาคม ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 51.5 จุด ดีกว่าคาดเล็กน้อย ส่วนยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ก็ออกมาดีกว่าคาด ทำให้ทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีจังหวะรีบาวด์ขึ้นบ้าง กดดันให้ราคาทองคำย่อตัวลงเกือบ -20 ดอลลาร์ต่อออนซ์  โดยการอ่อนค่าของเงินบาทก็ถูกชะลอลง หลังเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ กลับมาย่อตัวลงบ้าง ส่วนราคาทองคำก็รีบาวด์ขึ้นจากช่วงตลาดรับรู้รายงานดัชนี ISM PMI ภาคการบริการของสหรัฐฯ 

สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท ยอมรับว่า เงินบาทได้แข็งค่าขึ้นมากกว่าที่ประเมินไว้มาก (หลุดโซนแนวรับ 33.75 บาทต่อดอลลาร์ ที่ประเมินไว้ในช่วงต้นสัปดาห์) ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากการปรับสถานะ (Cut Loss) ของผู้เล่นในตลาดที่มีสถานะ Short THB (มองเงินบาทอ่อนค่าลง) โดยเฉพาะในจังหวะที่เงินบาทแข็งค่าหลุดโซนแนวรับ 33.75-33.80 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงวันก่อนหน้า จากหลายปัจจัยทั้ง การอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ โฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ และแรงซื้อสินทรัพย์ไทยของนักลงทุนต่างชาติ อย่างไรก็ดี การแข็งค่าของเงินบาทอาจชะลอลงใกล้โซนแนวรับสำคัญ 33.50 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้นรายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ในคืนวันศุกร์นี้

ทั้งนี้ เงินบาทเสี่ยงผันผวนสองทิศทาง (Two-Way Volatility) ตามการปรับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด หลังรับรู้รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ หากยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) เพิ่มขึ้น ส่วนอัตราการว่างงาน (Unemployment Rate) ก็ลดลงสู่ระดับ 4.2% ตามที่บรรดานักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ หรืออาจออกมาดีกว่าคาด และปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด ซึ่งอาจหนุนให้ทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น กดดันทั้งราคาทองคำและเงินบาทได้ โดยในกรณีนี้ ควรจับตาว่า เงินบาทจะสามารถอ่อนค่าลงทะลุโซนแนวต้าน 33.80 บาทต่อดอลลาร์ ได้หรือไม่ (แนวต้านถัดไปจะอยู่ในช่วง 34.00 บาทต่อดอลลาร์)

ในขณะที่ หากข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ออกมาแย่กว่าคาดชัดเจน ก็อาจยิ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างกังวลต่อความเสี่ยงเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจชะลอตัวลงหนัก หรือ เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ทำให้ผู้เล่นในตลาดคงคาดหวังว่า เฟดต้องเร่งลดดอกเบี้ย ซึ่งอาจกดดันเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พร้อมกับหนุนให้ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ได้ และหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท ซึ่งต้องลุ้นว่า เงินบาทจะสามารถแข็งค่าหลุดแนวรับสำคัญ 33.50 บาทต่อดอลลาร์ ได้หรือไม่ เพราะการแข็งค่าดังกล่าวจะเปิดโอกาสให้เงินบาทสามารถแข็งค่าต่อสู่โซน 33.25 บาทต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก 

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles