ค่าเงินบาท แข็งค่าสุดในรอบ 6 เดือน ตามดอลลาร์อ่อนค่า กังวลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ลุ้นคดีถอดถอนนายกฯ

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาท เปิดที่ระดับ 35.03 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  35.16 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.85-35.25 บาทต่อดอลลาร์ (ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดรับรู้คำวินิจฉัยคดีถอดถอนนายกฯ และ ช่วงทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ) นับเป็นการแข็งค่าสุดในรอบ 6 เดือน

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ทดสอบโซนแนวรับ 35.00 บาทต่อดอลลาร์ ที่เราได้ประเมินไว้ (แกว่งตัวในช่วง 34.99-35.17 บาทต่อดอลลาร์) หนุนโดย การปรับตัวลดลงต่อเนื่องของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ตามรายงานดัชนีราคาผู้ผลิต PPI ของสหรัฐฯ ในเดือนกรกฎาคม ที่ชะลอลงสู่ระดับ 2.2% (+0.0%m/m) ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ทำให้ผู้เล่นในตลาดมีความมั่นใจมากขึ้นต่อแนวโน้มการชะลอของเงินเฟ้อในฝั่งสหรัฐฯ (ดัชนี PPI มีความสอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อ PCE ที่เฟดติดตามพอสมควร

นอกจากนี้ เงินบาทยังได้แรงหนุนเพิ่มเติม จากโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำ (XAUUSD) ทยอยปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องทดสอบโซนแนวต้านแถว 2,470 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่ราคาทองคำจะย่อตัวลงมาบ้างตามแรงขายทำกำไร

สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท เรายอมรับว่า อาจต้องปรับมุมมองต่อแนวโน้มเงินบาทใหม่ จากที่ในช่วงต้นเดือนสิงหาคม เราได้ประเมินว่า เงินบาทมีโอกาสผันผวนในลักษณะ Sideways Up หรือทยอยอ่อนค่าลงได้บ้าง จากปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่า อาทิ ปัจจัยเสี่ยงการเมืองในประเทศ เป็นต้น กอปรกับในเชิงเทคนิคัล เงินบาท (USDTHB) ได้ส่งสัญญาณกลับตัว Bullish Reversal ใน Time Frame รายวัน ทำให้เรามีความมั่นใจต่อมุมมองดังกล่าว ทว่า การแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินบาทในช่วงวันก่อนหน้า จนหลุดโซนแนวรับ 35.00 บาทต่อดอลลาร์ นั้น ได้ทำให้ ภาพ Bullish Reversal ดังกล่าวเปลี่ยนเป็นโดยสิ้นเชิง ทำให้เราประเมินใหม่ว่า เงินบาทอาจแกว่งตัวในกรอบ sideways ในช่วงหลังจากนี้ โดยเงินบาทอาจแกว่งตัวแถวโซนแนวรับสำคัญ 35.00 บาทต่อดอลลาร์ไปก่อน แต่หากเงินบาทแข็งค่าหลุดโซนดังกล่าวได้ชัดเจน ก็อาจแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ทดสอบโซนแนวรับถัดไปแถว 34.85 บาทต่อดอลลาร์ ได้ ขณะที่โซนแนวต้านของเงินบาทนั้น จะค่อนข้างหน้าแน่น ตั้งแต่ช่วง 35.30 บาทต่อดอลลาร์ และโซน 35.50 บาทต่อดอลลาร์ ที่จะเป็นโซนแนวต้านสำคัญ 

ทั้งนี้ แม้เราจะปรับมุมมองต่อแนวโน้มเงินบาท จาก Sideways Up เป็นเพียง Sideways ทว่า เงินบาทก็ยังมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าลงได้บ้าง โดยเฉพาะในช่วงวันนี้ หากรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ออกมาสูงกว่าคาด หรือ ผู้เล่นในตลาดต่างกังวลต่อสถานการณ์การเมืองไทยมากขึ้น หลังรับรู้คำวินิจฉัยคดีถอดถอนนายกฯ ซึ่งอาจส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติทยอยขายสินทรัพย์ไทยเพิ่มเติม (อาจเห็นการทยอยขายทำกำไรบอนด์ หลังเงินบาทแข็งค่าขึ้น พร้อมการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์) กดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงได้ 

เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตามการเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาทอย่างมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดหรือการปรับสถานะ JPY Carry Trade/Short JPY ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles