ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ยอดขายภาค ค้าปลีก มีแนวโน้มเติบโตชะลอลง โดยในช่วงปี 2567-2568 โตเฉลี่ย 3.4% เทียบกับในช่วงปี 2565-2566 ที่โต 5.9% จากกำลังซื้อผู้บริโภคที่ฟื้นตัวช้า รวมถึงการแข่งขันรุนแรงกับแพลตฟอร์มค้าปลีกต่างชาติอย่าง E-Commerce
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า แม้ยอดขายภาคค้าปลีกจะชะลอลง แต่ผู้ประกอบการยังมีแผนขยายสาขาอยู่ โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัด ตามการขยายตัวของความเป็นเมือง และการท่องเที่ยวที่ยังโต ทำให้สัดส่วน GPP ของค้าปลีกในต่างจังหวัดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 42% ในปี 2568
นอกจากจังหวัดเมืองหลักแล้ว ยังมีหลายจังหวัดเมืองรองเป็นพื้นที่ศักยภาพในการลงทุน เช่น ชุมพร ลพบุรี ที่รายได้ประชากรและการใช้จ่ายในภาคค้าปลีกยังขยายตัวสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ รวมถึงความหนาแน่นของร้านค้ายังน้อย
ภาคค้าปลีกมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยอย่างไร?
ภาคค้าปลีก ถือเป็นธุรกิจหนึ่งที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย โดยมีความเชื่อมโยงกับหลายภาคส่วนทั้งภาคครัวเรือน และภาคอุตสาหกรรมอื่น เช่น การผลิต ขนส่ง ครอบคลุมสินค้าหลากหลายที่เกี่ยวข้องในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคและผู้ประกอบการ
ปัจจุบันภาคค้าปลีกมีมูลค่าราว 4 ล้านล้านบาท โดยมีสัดส่วนมูลค่าใน GDP สูงเป็นอันดับ 2 หรือคิดเป็น 16% ของขนาดเศรษฐกิจทั้งประเทศ (รูปที่ 1) หรือคิดเป็น 26% ของมูลค่า GDP ในภาคบริการ ทั้งนี้ ภาคค้าปลีกของไทยเน้นพึ่งพากำลังซื้อของคนในประเทศเป็นหลัก ซึ่งในช่วงก่อนเกิดโควิด-19 การใช้จ่ายในภาคค้าปลีกของคนไทยมีสัดส่วนราว 75% ของมูลค่าค้าปลีกทั้งหมด ส่วนอีก 25% มาจากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติ
ในช่วงที่ผ่านมา ยอดขายภาคค้าปลีกของไทยเริ่มมีสัญญาณการเติบโตชะลอลง สะท้อนจากในช่วงปี 2567-2568 ที่โตเฉลี่ย 3.4% เทียบกับในช่วงปี 2565-2566 ที่โต 5.9% (รูปที่ 2) ซึ่งมาจากหลายปัจจัยกดดัน ไม่ว่าจะเป็น กำลังซื้อของผู้บริโภคที่ฟื้นตัวช้า และปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงการที่ธุรกิจต้องเผชิญการแข่งขันรุนแรงต่อเนื่อง โดยเฉพาะกับแพลตฟอร์มค้าปลีกต่างชาติอย่าง E-Commerce ส่งผลให้ธุรกิจยังเผชิญกับความยากลำบากในการสร้างยอดขาย
ทำไมผู้ประกอบการค้าปลีกยังมีแผนการขยายการลงทุนต่อเนื่อง?
แม้การเติบโตของภาคค้าปลีกไทยมีแนวโน้มชะลอลง แต่ผู้ประกอบการยังคงมีการขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า เกิดจาก 3 เหตุผลหลัก ได้แก่
1)การขยายตัวของความเป็นเมือง (Urbanization) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สะท้อนจากสัดส่วนประชากรที่อาศัยในเขตชุมชนเมืองของไทยปัจจุบันอยู่ที่ 54% ยังน้อยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่น มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ส่งผลให้ผู้ประกอบการค้าปลีก โดยเฉพาะรายใหญ่ ยังมีแผนขยายสาขาออกสู่ต่างจังหวัด สอดคล้องไปกับสัดส่วน GPP ภาคค้าปลีกในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลมีแนวโน้มลดลง สวนทางกับในต่างจังหวัดที่เพิ่มขึ้น
2)ภาคการท่องเที่ยวของไทยยังคงเติบโตและนักท่องเที่ยวเริ่มสนใจเมืองรอง สะท้อนจากปริมาณการบริโภคภาคค้าปลีกที่เพิ่มขึ้นหลังการทยอยกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติหลังโควิด-19 โดยเฉพาะในพื้นที่ท่องเที่ยวจังหวัดเมืองหลัก และแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ ที่เริ่มได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้น ส่งผลให้สัดส่วนการใช้จ่ายในภาคค้าปลีกของกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น
3)การรุกพื้นที่ศักยภาพให้ครอบคลุมฐานลูกค้า เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดก่อนที่คู่แข่งจะเข้ามาขยายการลงทุน หรือการใช้กลยุทธ์ “Market Cannibalization” โดยเปิดสาขาใหม่ในพื้นที่ที่ไม่ห่างจากสาขาเดิมมากนัก ซึ่งแม้สาขาใหม่ที่เปิดอาจเกิดการแย่งส่วนแบ่งตลาดของสาขาเดิมบ้าง แต่สุทธิแล้วยอดขายรวมทั้ง 2 สาขายังเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน ก็เป็นการกันคู่แข่งที่จะมาเปิดสาขาในบริเวณเดียวกันหรือใกล้เคียง
Potential areas หรือพื้นที่ศักยภาพของค้าปลีกอยู่ตรงไหน?
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า นอกเหนือไปจากจังหวัดหัวเมืองหลัก ที่ผู้ประกอบการมีแผนขยายสาขาในบาง Segment เช่น ร้านค้าส่งสินค้าอุปโภคบริโภค ไฮเปอร์มาร์เก็ต และร้านค้าวัสดุก่อสร้าง ยังมีหลายจังหวัดหัวเมืองรองเป็นพื้นที่ศักยภาพในการขยายการลงทุนของธุรกิจค้าปลีก โดยมีปัจจัยสำคัญที่นำมาพิจารณา ดังนี้
1)จังหวัดที่มีความหนาแน่นของร้านค้าปลีกต่อประชากรที่ยังน้อย โดยยังอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศที่ 7 ร้านต่อประชากร 1 พันคน สะท้อนถึงการแข่งขันที่ยังไม่รุนแรง และเป็นโอกาสในการขยายสาขาเพิ่ม
2)จังหวัดที่มีรายได้ประชากรต่อหัวสูง และสัดส่วนการใช้จ่ายในภาคค้าปลีกขยายตัวดี โดยรายได้ประชากรต่อหัวมากกว่า 120,000 บาทต่อปี รวมถึงสัดส่วนการใช้จ่ายในภาคค้าปลีกเติบโตสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศที่ 4% (CAGR ปี 2555-2565) ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะช่วยหนุนกำลังซื้อของธุรกิจ
3)จังหวัดที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติต่อปีสูง เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคนต่อปี ซึ่งช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายภาคค้าปลีก โดยเฉพาะในกลุ่มห้างสรรพสินค้า และร้านค้าสะดวกซื้อ
4)จังหวัดที่มีประชากรวัยแรงงานในพื้นที่สูง หรือมีสัดส่วนไม่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศที่ 64% สะท้อนถึงกลุ่มคนที่มีรายได้เพื่อใช้จ่าย โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน
5)จังหวัดที่ได้รับประโยชน์จากแผนการลงทุนโครงการก่อสร้างภาครัฐ เช่น โครงการ Motorways โครงการรถไฟทางคู่ และการพัฒนาเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค ซึ่งทำให้เกิดกิจกรรมการค้า การลงทุน และการเคลื่อนย้ายแรงงาน ส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจภายในจังหวัด
เมื่อพิจารณาทั้ง 5 ปัจจัยสนับสนุนข้างต้น พบว่า นอกจากจังหวัดเมืองหลัก เช่น ขอนแก่น นครราชสีมา ชลบุรี และระยอง ที่น่าสนใจในการขยายการลงทุนแล้ว ยังมีหลายจังหวัดเมืองรองเป็นพื้นที่ศักยภาพของธุรกิจค้าปลีก ซึ่งแต่ละจังหวัดจะมีปัจจัยหนุนแตกต่างกันไป ได้แก่
จังหวัดที่มี 5 ปัจจัย จำนวน 2 จังหวัด ได้แก่ ลพบุรี และชุมพร
จังหวัดที่มี 4 ปัจจัย จำนวน 6 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ หนองคาย อุดรธานี บุรีรัมย์ ปราจีนบุรี และนครศรีธรรมราช
จังหวัดที่มี 3 ปัจจัย จำนวน 12 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย พิษณุโลก ตาก เลย นครพนม อุบลราชธานี นครนายก จันทบุรี ตราด สุพรรณบุรี ราชบุรี และสตูล
ภาพดังกล่าวสอดคล้องไปกับแผนธุรกิจของผู้ประกอบการค้าปลีกบางรายที่มีแผนขยายสาขาไปสู่จังหวัดเมืองหลักและจังหวัดเมืองรองบ้างแล้ว เช่น กรุงเทพฯ ภูเก็ต กระบี่ และนครสวรรค์ รวมถึงมีการปรับปรุงสาขา (Renovate) เช่น การปรับโฉมพื้นที่โซนต่างๆ และการเลือกร้านค้าแบรนด์ใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของลูกค้าหลากหลายเจเนอเรชั่น
อย่างไรก็ดี การพิจารณาพื้นที่ศักยภาพในการเปิดสาขาธุรกิจค้าปลีกดังกล่าว อาจเป็นเพียงการชี้ให้เห็นโอกาส แต่ยังไม่สะท้อนถึงความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจ เนื่องจากต้องดูปัจจัยเฉพาะตัวอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ต้นทุนการทำธุรกิจในทำเลต่างๆ (ค่าขนส่ง ความพร้อมของสาธารณูปโภค ฯลฯ) รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคในแต่ละพื้นที่
โมเดลการขยายการลงทุนของธุรกิจค้าปลีก ควรเป็นแบบไหน?
ปัจจุบัน ธุรกิจค้าปลีกเริ่มมีโมเดลที่ยืดหยุ่นและหลากหลายมากขึ้น Segment ต่างๆ แบ่งขาดออกจากกันยากขึ้น การทำการตลาดผสมผสานแบบ Omni-channel (รูปที่ 8) ต่างจากในอดีตที่แต่ละ Segment แบ่งกันชัดเจน ตามขนาด และประเภทสินค้าที่จัดจำหน่าย
การขยายการลงทุนของผู้ประกอบการก็ต่างไปจากเดิม และมีแนวโน้มต้องรอบคอบมากขึ้นจากเทรนด์ที่เปลี่ยนเร็วและซับซ้อนขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต สะท้อนจากจำนวนสาขาร้านค้าปลีกในปัจจุบันมีไม่ต่ำกว่า 30,000 สาขาทั่วประเทศ ซึ่งในปี 2568 ผู้ประกอบการมีแผนขยายการลงทุน โดยเฉพาะร้านสะดวกซื้อ/ซูเปอร์มาร์เก็ตเพิ่มอีกไม่ต่ำกว่า 700 สาขา ชะลอลงเมื่อเทียบกับในอดีตที่ขยายมากกว่า 1,000 สาขาต่อปี โดยการขยายสาขาก็มีการพัฒนารูปแบบหน้าร้าน และเลือกชนิดสินค้าที่ไปวางขายให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่มากขึ้นด้วย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าการทำธุรกิจค้าปลีกยังมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงตามปัจจัยแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ทำให้ผู้ประกอบการต้องมีความคล่องตัวสูง ภาวะเศรษฐกิจ/กำลังซื้อ สภาพการแข่งขัน รวมถึงเทรนด์ต่างๆ โดยเฉพาะสุขภาพ สังคมสูงวัย สิ่งแวดล้อม ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน ซึ่งจะมีผลต่อการขยายการลงทุนของธุรกิจค้าปลีกในแต่ละพื้นที่ ทั้งขนาดและรูปแบบร้านค้า เพื่อตอบโจทย์คนในพื้นที่นั้นๆ ได้ตรงจุดมากขึ้น เช่น ร้านค้าปลีกย่านแหล่งท่องเที่ยวอาจมีการเพิ่มไลน์สินค้าที่เป็นของฝาก/สินค้าท้องถิ่น ขายอาหารสด/อาหารพร้อมทานหน้าร้าน ขายสินค้าสุขภาพ/ยา/ของใช้ผู้สูงอายุ สินค้าเพื่อสัตว์เลี้ยง พร้อมบริการจัดส่งถึงที่พัก
นอกจากนี้ ธุรกิจยังอาจพิจารณาการเพิ่มบริการด้านอื่นควบคู่กันไปได้ ดังเช่นตัวอย่างในประเทศญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้ ไม่ว่าจะเป็น การเพิ่มสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุหรือสัตว์เลี้ยง บริการทางการเงิน (จ่ายบิล โอนเงิน/แลกเงิน) รับ-ส่งพัสดุ จุดรับฝากของสำหรับนักท่องเที่ยว Backpackers ร่วมกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ให้แก่ลูกค้าทุกช่วงวัย และแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน เป็นต้น โดยจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนให้เท่าทัน เพราะคงไม่มีสูตรสำเร็จหรือรูปแบบที่ตายตัว (One-Size-Fits-All) อีกต่อไปท่ามกลางพลวัตที่ซับซ้อนนี้