องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เปิดเผยว่า ประเทศจีนนำเข้า 95% ของการส่งออกทุเรียนจากทั่วโลก ที่สำคัญในปี 2023 ผ่านไปนั้น ประเทศจีนสั่งซื้อและนำเข้าทุเรียนจากประเทศต่างๆที่เป็นแหล่งผลิตในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยมูลค่ามากถึง 6,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 227,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12 เท่า เมื่อเปรียบเทียบนับตั้งแต่ปี 2017
นายเทา เจียน นักธุรกิจชาวจีนจากแผ่นดินใหญ่เป็นหนึ่งในนักธุรกิจชาวจีนจำนวนไม่น้อย ได้เข้าซื้อที่ดินในที่ราบสูงโบลาเวน หรือบอละเวน ซึ่งเป็นเขตดินภูเขาไฟทางภาคใต้ของประเทศสปป.ลาว เพื่อลงทุนปลูกไร่ทุเรียนจำนวน 50,000 ต้น บริเวณที่ราบสูงแห่งนี้เป็นที่รู้จักกันดีมานานนับศตวรรษว่าเป็นศูนย์กลางแหล่งปลูกกาแฟของสปป.ลาวมาตั้งแต่ปี 1920
บริษัทจิงกูของนักธุรกิจชาวจีนชื่อว่าเทา เจียน ซึ่งมีอายุ 54 ปีคนนี้ ซึ่งได้ผลผลิตทุเรียนล็อตแรกสุดของปีนี้จากสปป.ลาว กล่าวว่า ส่วนตัวเชื่อว่าเร็วๆ นี้ประเทศสปป.ลาวจะกลายเป็นแหล่งผลิตทุเรียนที่มีขนาดใหญ่อันดับ 4 ของโลกเป็นรองจากไทย เวียดนาม และมาเลเซีย ในปัจจุบันจะพบว่ากลุ่มทุนจีนซึ่งประกอบไปด้วยนักธุรกิจสัญชาติจีนได้เข้าไปลงทุนปลูกไร่ทุเรียนในสปป.ลาวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สาเหตุมาจากการเปิดใช้บริการรถไฟความเร็วสูงระหว่างจีนและสปป.ลาว ส่งผลให้กลายเป็นช่องทางลงทุนในการขนส่งสินค้าเกษตรโดยเฉพาะทุเรียน ที่มีประสิทธิภาพสูงเนื่องจากใช้เวลาสั้นโดยเฉพาะการขนส่งทุเรียนซึ่งไม่เป็นที่ต้องห้ามในการขนส่งสินค้าโดยใช้ระบบสาธารณะเหมือนอย่างประเทศไทยและมาเลเซีย
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้เกิดความกังวลจาก ชาวไร่ชาวสวนและผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตรภายในประเทศสปป.ลาว เนื่องจากความต้องการนำเข้าทุเรียนจากประเทศจีนมีจำนวนมากมายส่งผลให้การปลูกทุเรียนในประเทศสปปลป.ลาวของนักธุรกิจหรือกลุ่มทุนชาวจีนจะนำไปสู่ปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อม ปัญหาการสูญเสียพื้นที่ป่าธรรมขาติ การสูญเสียแหล่งปลูกกาแฟดั้งเดิม และผลกระทบทางความหลากหลายชีวภาพ
ถึงแม้ว่ารัฐบาลจีนและรัฐบาลสปป.ลาวจะยังไม่ได้บรรลุข้อตกลงสุดท้ายในการอนุญาตขนส่งทุเรียนจากสปป.ลาวเข้าสู่ประเทศจีนก็ตาม แต่ความคืบหน้าในการเจรจาซึ่งไปถึงกระบวนการสุดท้ายของข้อตกลงดังกล่าวมีขึ้นอยู่ตลอดเวลา ด้านกระทรวงเกษตรสปป.ลาว เปิดเผยว่า ทุเรียนลาวจะสามารถเข้าไปเปิดตลาดในประเทศจีนได้เร็วๆ นี้แน่นอน ประเทศสปป.ลาวมีปัจจัยบวกในการเป็นแหล่งปลูกทุเรียนเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านยักษ์ใหญ่ ได้แก่ ค่าจ้างแรงงานมีราคาถูกมาก ภูมิอากาศเหมาะสมกับการปลูกทุเรียนซึ่งไม่แตกต่างจากประเทศไทย และพื้นที่ป่าหรือพื้นที่เพาะปลูกยังมีอีกเป็นจำนวนมากมายที่ยังไม่ได้รับการพัฒนา
เจียรัน เป็นกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่จากประเทศจีน ที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานชื่อดังจากประเทศจีน เปิดเผยว่า จะลงทุนสร้างสวนไร่ทุเรียนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกที่แขวงอัตตะปือ ซึ่งตั้งอยู่ตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศสปป.ลาว ในปี 2022 กลุ่มเจียรัน ได้รับการอนุมัติให้เช่าที่ดินเป็นเวลานาน 50 ปีจากรัฐบาลสปป.ลาว ที่มีขนาดกว้างใหญ่ถึง 5,000 เฮกเตอร์ หรือราว 31,250 ไร่ กลุ่มเจียรันมีแผนที่จะปลูกทุเรียนเกินกว่าครึ่งหนึ่งของที่ดินดังกล่าว นายเหอ รุยจุน รองผู้จัดการเจียรัน สปป.ลาว เปิดเผยว่าการลงทุนดังกล่าวเพื่อต้องการที่จะผสมผสานระหว่าง รูปแบบการเกษตรของจีนเข้ากับทรัพยากรทางธรรมชาติในประเทศสปป.ลาว อาเซียนได้กลายแผ่นดินแห่งโอกาส ซึ่งไม่เหมือนกับจีนที่โอกาสในการเติบโตลดน้อยหรือแคบลงเรื่อยๆ
อย่างไรก็ตาม โกลบอล ฟอร์เรสท์ วอทช์ เปิดเผยว่า สปป.ลาวสูญเสียพื้นที่ป่าธรรมชาติถึง 14% ของป่าทั้งหมดในช่วง 20 ปีผ่านมา หรือในช่วงระหว่างปี 2002 ถึงปี 2023 สาเหตุจากการทำป่าไม้ที่ผิดกฎหมาย การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งขนาดใหญ่ และการลงทุนพื้นที่การเกษตรที่มีขนาดใหญ่ ล้วนมีผลทำให้พื้นที่ป่าธรรมชาติลดลงมากจากการตัดไม้ทำลายป่าเพิ่มจากในปี 2022 ที่ 93,000 เฮกเตอร์ หรือราว 581,250 ไร่ ขึ้นมาเป็น 137,000 เฮกเตอร์ หรือราว 856,250 ไร่ในปีผ่านมา เมื่อพื้นที่ป่าธรรมชาติลดลงไปเรื่อยๆ ย่อมส่งผลทำให้เกิดปัญหาสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ปัญหาโลกร้อน และการสูญเสียทรัพยากรป่าธรรมชาติซึ่งเป็นแหล่งอาหารและทำมาหากินของประชาชนชาวสปป.ลาวในพื้นที่อีกด้วย