KKP Research เปิดเผยบทวิเคราะห์ ‘จีนเที่ยวไทยวูบอาจไม่ใช่แค่ชั่วคราว’ แนะปรับเกม ดึงยุโรป-อินเดียแทน
นักท่องเที่ยวจีนหายไปไหน? ถือว่าผิดคาดไปค่อนข้างมากหลังจากเปิดปีใหม่มา ภาคท่องเที่ยวที่เป็นความหวังของเศรษฐกิจในปีนี้กลับหดหายไปอย่างน่าตกใจ แม้ว่าจะมีการคาดการณ์ล่วงหน้าแล้วว่าแรงส่งคงจะชะลอตัวลงบ้างหลังจากแบกเศรษฐกิจไทยมาในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งตอนปลายปี 2024 ยังเป็นเพียงประเทศเดียวเท่านั้นที่ฟื้นตัวกลับไปได้เพียง 60-70% ของนักท่องเที่ยวก่อนโควิด-19 ที่จำนวนเฉลี่ยประมาณ 560,000 คนต่อเดือน อย่างไรก็ดี หลังจากตรุษจีนในเดือนมกราคมของปี 2025 นักท่องเที่ยวจีนกลับหดตัวรุนแรงเกือบครึ่ง เหลือเพียงเดือนละไม่ถึง 300,000 คน หรือคิดเป็นเพียง 30% ของช่วงก่อนโควิด-19 เท่านั้น
KKP Research มองว่าเหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาจากปัจจัยทั้ง 2 ประเภทที่ทำให้นักท่องเที่ยวชะลอตัวอย่างรวดเร็วในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา โดยมี 3 ข้อเท็จจริงที่สังเกตได้ในช่วงที่ผ่านมา
จีนเที่ยวในประเทศและออกไปเที่ยวเองมากขึ้น: เริ่มต้นจากข้อเท็จจริงที่ 1 เป็นปัจจัยเชิงโครงสร้าง คือ จำนวนนักท่องเที่ยวขาออกของจีน (Chinese outbound tourist) ยังไม่ฟื้นตัวเท่าช่วงก่อนโควิด-19 จากทั้งภาวะเศรษฐกิจจีนที่ชะลอลง ขณะเดียวกัน รัฐบาลจีนเริ่มส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศเป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจหลักอีกเครื่องยนต์หนึ่ง โดยนักท่องเที่ยวจีนที่ออกไปเที่ยวต่างประเทศ ฟื้นตัวเพียง 86.5% ของนักท่องเที่ยวปี 2019 สวนทางกับนักท่องเที่ยวจีนที่ท่องเที่ยวในประเทศที่ฟื้นตัวถึง 93.6% แล้ว
ข้อเท็จจริงประการที่ 2 ที่เป็นปัจจัยเชิงโครงสร้างเช่นกัน คือ นักท่องเที่ยวจีนที่ฟื้นตัวกลับมาเปลี่ยนจากกรุ๊ปทัวร์เป็นนักท่องเที่ยวอิสระ (Free Individual Traveler: FIT) มากขึ้น โดยในช่วงก่อนโควิด-19 นักท่องเที่ยวจีนที่มาไทยเลือกมาในลักษณะกรุ๊ปทัวร์ค่อนข้างสูงหากเทียบกับภูมิภาคอื่น โดยคิดเป็นเกือบ 40% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด และมีกลุ่มนักท่องเที่ยวอิสระเพียง 60% ขณะที่ภูมิภาคอื่น ๆ จะมีนักท่องเที่ยวกรุ๊ปทัวร์เพียง 10-20% เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อจีนกลับมาเปิดประเทศอีกครั้ง สัดส่วนนักท่องเที่ยวจีนที่เลือกมากับกรุ๊ปทัวร์ลดลงเหลือเพียง 20% เท่านั้นในปีที่ผ่านมา จากการสำรวจของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาล่าสุด ดังนั้นเมื่อเทียบการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวทั้งสองประเภทแล้ว จะพบว่านักท่องเที่ยวอิสระในปีที่ผ่านมาฟื้นตัวกลับมาถึง 77.4% ของปี 2019 แล้ว หรือคิดเป็นนักท่องเที่ยว 5.3 ล้านคน ส่วนนักท่องเที่ยวจีนที่เป็นกรุ๊ปทัวร์ฟื้นตัวมาเพียง 33.4% หรือคิดเป็นเพียง 1.4 ล้านคนเท่านั้น
การเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลโดยตรงต่อรูปแบบและพฤติกรรมการท่องเที่ยว โดยนักท่องเที่ยวอิสระมักมีกำลังซื้อและมีการใช้จ่ายเฉลี่ยต่อหัวสูงกว่านักท่องเที่ยวกรุ๊ปทัวร์ ราคาจึงไม่ใช่ปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจเพียงอย่างเดียว ทำให้การกระตุ้นการท่องเที่ยวโดยเน้นราคาป็นหลักอาจจะไม่ได้ผลอีกต่อไป แต่ปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ อาจเป็นตัวชี้ขาดมากกว่าว่านักท่องเที่ยวจีนจะเลือกมาเที่ยวไทยหรือไม่ เช่น ประเภทสถานที่ท่องเที่ยว ระดับการให้บริการ ความปลอดภัย ฯลฯ
ไทยกำลังสูญเสียความน่าสนใจจากความปลอดภัยที่ลดลง: ข้อเท็จจริงประการที่ 3 ที่อาจเกิดจากทั้งประเด็นเชิงโครงสร้างและชั่วคราว คือ ในบรรดานักท่องเที่ยวจีนที่ยังออกมาเที่ยวนอกประเทศกลับเลือกเบนเข็มไปเที่ยวประเทศอื่น ๆ มากขึ้น โดยหลังจากนักท่องเที่ยวจีนในเดือนมกราคมแตะระดับสูงสุดเป็นอันดับ 3 นับตั้งแต่จีนกลับมาเปิดประเทศที่จำนวนกว่า 6.6 แสนคนจากเทศกาลตรุษจีน นักท่องเที่ยวจีนกลับลดลงไปกว่าครึ่ง เหลือเพียงประมาณ 3 แสนคนจนถึงเดือนเมษายน
ขณะที่หากพิจารณาเที่ยวบินขาออกจากจีนกลับพบว่าได้ทยอยฟื้นตัวตั้งแต่เดือนมีนาคมแล้ว แต่เที่ยวบินขาเข้าไทยกลับยังลดลงอย่างต่อเนื่อง สะท้อนว่าความน่าสใจของประเทศไทยลดลงมากกว่าจะเกิดจากคนจีนเที่ยวต่างประเทศลดลง
หากถามต่อไปว่าแล้วจีนหันไปเที่ยวประเทศใด ข้อมูลเที่ยวบินขาออกและจำนวนนักท่องเที่ยวของประเทศต่าง ๆ ชี้ไปที่ประเทศอย่างญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เวียดนาม และมาเลเซีย
โดยสาเหตุที่นักท่องเที่ยวจีนเลือกมาเที่ยวไทยน้อยลงอาจจะแบ่งเป็น 2 ด้าน คือ การเที่ยวซ้ำของนักท่องเที่ยวจีนอาจต้องใช้เวลา โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวอิสระที่ต้องมีการเตรียมตัววางแผนท่องเที่ยวเอง ซึ่งเป็นปัจจัยชั่วคราวที่อาจทยอยปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี
และประเด็นความปลอดภัยที่รุนแรงขึ้นในสายตานักท่องเที่ยวจีน ซึ่งเป็นปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ต้องใช้เวลาในการแก้ไขภาพลักษณ์ให้กลับมาดีเหมือนเดิม โดยเฉพาะกับกลุ่มนักท่องเที่ยวอิสระที่ให้ความสนใจเรื่องเหล่านี้เป็นพิเศษกว่ากรุ๊ปทัวร์อยู่แล้ว