เมื่อวันที่ 23 ตุลาคมที่ผ่านมา นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงความคืบหน้า การยกร่าง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. …. หรือ กฎหมายเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ว่า คาดจะสามารถนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้ภายในปี 2567 ขั้นตอนหลังจากผ่านความเห็นชอบของ ครม.แล้ว รัฐบาลจะผลักดันร่างกฎหมายฉบับนี้ ให้สภาพิจารณาต่อไป จะทันช่วงที่สภาผู้แทนราษฎรจะเปิดสมัยการประชุมสามัญอีกครั้ง ในกลางเดือนธันวาคม 2567 – เมษายน 2568
สำหรับ ร่างกฎหมายดังกล่าวจะเป็นกฎหมายฉบับแรกของไทยเปิดทางให้สามารถจัดตั้งกาสิโน รวมถึงสถานบันเทิงต่างๆได้ถูกต้องตามกฎหมาย เหมือนที่หลายประเทศในโลกได้อนุญาต โดยร่างกฎหมายฉบับนี้ได้ผ่านการประชาพิจารณตามกฎหมายรัฐธรรมนูญเมื่อเร็วๆนี้ ผลคือเสียงส่วนใหญ่ถึง 82 % เห็นด้วยกับการให้มีร่างกฎหมายฉบับนี้
อย่างไรก็ดี ผลการศึกษาของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ระบุว่า หากมีการจัดตั้งเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ในประเทศไทย จะดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทย เพิ่มขึ้นอีกราว 5-20% เมื่อเทียบกับยังไม่มีสถานบันเทิงดังกล่าว และจะทำให้การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว เพิ่มขึ้นเป็น 6 หมื่นบาทต่อหัว จากปัจจุบันอยู่ที่ 4 หมื่นบาทต่อหัว คาดว่าจะสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ทั้งในช่วงการก่อสร้าง ที่จะเกิดการลงทุน เพื่อสร้างสถานบันเทิงครบวงจร ที่จะต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก และเมื่อสร้างเสร็จนอกจากจะเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวแล้ว รวมถึงจะช่วยสร้างงานให้กับคนในประเทศ ซึ่งอยากให้เป็นผสถานประกอบที่จะเกิดขึ้นนนั้นจ้างงานคนไทยให้มากที่สุด ซึ่งอาจต้องมีการเทรนเพื่อให้มีทักษะตามที่ต้องการ
ส่วนกรณีภาคเอกชนสนใจจะเข้ามาลงทุนในเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์นั้น ยังไม่ได้มีการพูดคุยกันระหว่างภาคเอกชนและรัฐบาล แต่ถือว่าเป็นผลตอบรับที่ดีที่มีภาคเอกชน และนักลงทุนสนใจ อย่างไรก็ดี เมื่อกฎหมายผ่านแล้ว ทางภาครัฐบาล โดยคณะกรรมการที่จะต้องแต่งตั้งขึ้นใหม่นั้น ต้องกำหนดวัตถุประสงค์ ดูว่ารัฐบาลต้องการโครงการประเภทใด เพื่อให้กลายเป็นแหล่งดึงดูดการท่องเที่ยว และด้านภาคเอกชนยื่นเสนอมาตรงกับข้อกำหนดหรือไม่
ในส่วนของคนไทย ที่จะเข้าไปเล่นในกาสิโน ภายใต้เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ นั้น ตามร่างกฎหมายกำหนดว่าจะต้องเก็บค่าเข้าต่อครั้งไม่เกิน 5,000 บาท ส่วนนักลงทุนที่สนใจนั้น กฎหมายกำหนดให้มีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท สัมปทานจะมีใบอนุญาต 30 ปี และสามารถต่ออายุได้อีกคราวละ 10 ปี โดยมีค่าใบอนุญาต ใบละ 5 พันล้านบาท และมีค่ารายปีอีกปีละ 1 พันล้านบาท