นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลังและประธานกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เปิดเผยว่า กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เตรียมขอจัดสรรรงบประมาณปี 2568 วงเงิน 1.9 หมื่นล้านบาท เพื่อปล่อยกู้ให้กับผู้เรียนในปีการศึกษา 2568 โดยจะเป็นการขอจัดสรรงบประมาณอีกครั้งหลังจากที่ขอล่าสุดในปีงบประมาณ 2561 เนื่องจากผลการบังคับใช้ พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 ตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค. 2566 ซึ่งกำหนดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 1% ต่อปี และเบี้ยปรับลดเหลือ 0.5% ต่อปี จากเดิมอยู่ที่ 7.5 % จึงทำให้ยอดการชำระคืนเงินเข้ากองทุนฯ ลดลง รวมทั้งต้องคืนเงินให้ลูกหนี้ที่ชำระเงินเกินหลังการปรับปรุงยอดหนี้ใหม่ รวมไปถึงอัตราการชำระหนี้ที่ลดลงด้วย
นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการ กยศ. กล่าวว่า การของบประมาณในปี 2568 มีความจำเป็นในการใช้ปล่อยกู้ให้กับผู้เรียนในปีการศึกษา 2568 เนื่องจากกองทุนได้ดำเนินการปรับปรุงยอดหนี้ (Recalculate) ตามการบังคับใช้กฎหมายใหม่ ทำให้มียอดชำระหนี้คืนน้อยลง และหลังการคำนวณยอดหนี้ใหม่ โดยนำรายการชำระหนี้ของผู้กู้ยืมเงินแต่ละรายที่ได้ชำระเงินคืนกองทุนฯนับแต่วันที่ครบกำหนดชำระหนี้ครั้งแรกมาคำนวณหนี้ใหม่ ตัดชำระเงินต้นเฉพาะส่วนที่ครบกำหนด ดอกเบี้ย และเบี้ยปรับตามลำดับ คิดดอกเบี้ยในอัตรา 1% ต่อปี และคิดเบี้ยปรับในอัตรา 0.5% ต่อปี ทำให้มีผู้กู้ยืมที่จะได้รับเงินคืนส่วนที่ชำระเงินเกินซึ่งกยศ. คืนให้แล้วเป็นเงินประมาณ 97 ล้านบาท คาดว่าในอนาคตจะต้องคืนให้ผู้ที่ชำระเกินอีกราว 6,000 ล้านบาท
สำหรับปีการศึกษา 2567 นั้นกองทุนยังมีสภาพคล่องเพียงพอ โดยคาดว่าจะปล่อยกู้รวมวงเงิน 4.8 หมื่นล้านบาท และตั้งเป้าว่าจะมีการชำระคืน 2.4 หมื่นล้านบาท สะท้อนให้เห็นว่ามีสัญญาณการชำระหนี้กยศ.ลดลงประมาณ 5% ด้วยแรงกดดันของหนี้ครัวเรือนอื่นๆ อาทิ หนี้รถยนต์ หนี้บ้าน
โดยรายงานสถานะกองทุน กยศ. ณ วันที่ 31 มกราคม 2567 มีผู้กู้ยืมเงินกองทุน 6,809,339 ราย แบ่งออกเป็น 52% อยู่ระหว่างการชำระหนี้ 3,501,935 ราย 20 % อยู่ในช่วงปลอดหนี้ 1,368,761 ราย 27 % ชำระหนี้เสร็จสิ้น 1,866,022 ราย 1% เสียชีวิต/ทุพพลภาพ 72,621 ราย
ขณะเดียวกันมีรายงานกู้ยืมที่ทำสัญญาปรับโครงสร้างนี้แล้ว ประกอบด้วย
–กลุ่มสัญญาปกติ มีการนัดหมายทำสัญญา 48,156 ราย ทำสัญญาแล้ว 6,547 ราย คิดเป็นเงิน 1,087,480,355.93 บาท
–กลุ่มบอกเลิกสัญญา มีการนัดหมายทำสัญญา 9,036 ราย ทำสัญญาแล้ว 2,937 ราย คิดเป็นเงิน 536,028,155.49 บาท
–กลุ่มดำเนินคดี/บังคับคดี มีการนัดหมายทำสัญญา 37,880 ราย ทำสัญญาแล้ว 9,022 ราย คิดเป็นเงิน 2,146,545,784.48 บาท
–สำหรับการคำนวณหนี้ทั้งหมดของลูกหนี้กลุ่มที่ไม่เร่งด่วน 3.5 ล้านราย น่าจะแล้วเสร็จในอีกราว 150 วัน