ซีไอเอ็มบี ไทย เผชิญกำไรไตรมาสแรกปีนี้หดตัวถึง 24% เหลือกว่า 600 ล้านบาท รายได้ดิ่งกว่า 8%

ซีไอเอ็มบี ไทย เผชิญ กำไร ไตรมาสแรกปีนี้หดตัวถึง 24% เหลือกว่า 600 ล้านบาท รายได้ดิ่งกว่า 8%

ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยผลการดำเนินงานในไตรมาส 1 ปี 2567 พบว่า มีผลกำไรสุทธิ 626 ล้านบาท ลดลง 24.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากรายได้จากการดำเนินงานและค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น ขณะที่ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นลดลง 36.9% ในส่วนรายได้จากการดำเนินงานในไตรมาส 1 ปี 2567 อยู่ที่ 3,506.1 ล้านบาท ลดลง 8.4% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลงที่ 1.2% เป็นผลจากค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยของเงินรับฝากเพิ่มขึ้น ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ ลดลง 8% เพราะค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมการบริการที่เพิ่มขึ้น ส่วนรายได้อื่นๆ ยังลดลง 23.1% ส่วนใหญ่เป็นผลจากการลดลงของกำไรสุทธิจากเงินลงทุน และกำไรสุทธิจากการขายสินเชื่อด้อยคุณภาพ

ด้านค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 11.8% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของค่าเผื่อการด้อยค่าของสินทรัพย์รอการขาย และค่าภาษีอากร ทำให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้จากการดำเนินงาน ณ 31 มี.ค. 67 อยู่ที่ 62.5% เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปี 2566 ที่อยู่ 51.2% ด้านอัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (NIM) สำหรับงวด 3 เดือนปี 2567 อยู่ที่ 2.2% ลดลงจากงวดเดียวกันของปี 2566 ที่อยู่ระดับ 2.6% เป็นผลจากต้นทุนเงินฝากที่เพิ่มขึ้น

ข้อมูลสิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค. 2567 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อสุทธิจากรายได้รอตัดบัญชีของกลุ่มธนาคารอยู่ที่ 248,300 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 1.4% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2566 โดยกลุ่มธนาคารมีเงินฝาก 316,900 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.1% จากสิ้นปี 66 โดยอัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากลดลงมาสู่ระดับ 78.4% จากสิ้นปี 66 ที่อยู่ระดับ 78.9%

สำหรับสินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ที่ 8,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 66 ที่อยู่ราว 8,200 ล้านบาท โดยมีอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่ออยู่ที่ 3.4% เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีก่อนที่อยู่ระดับ 3.3% สาเหตุเพราะสินเชื่อรายย่อย โดยมีอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ อยู่ที่ 121.3% ลดลงจากสิ้นปี 66 ที่อยู่ระดับ 124.2% ค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นของกลุ่มธนาคาร ปัจจุบันอยู่ที่ 9,600 ล้านบาท เป็นเงินสำรองส่วนเกินตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวน 1,500 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม กลุ่มธนาคารมีนโยบายการจัดการความเสี่ยงด้านการให้สินเชื่อที่รัดกุมมาตรฐานบริหารจัดการความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพรวมถึงการปรับปรุงแนวทางในการเรียกเก็บหนี้จากสินเชื่อด้อยคุณภาพที่มีอยู่และการแก้ปัญหาสินเชื่อด้วยคุณภาพอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ เงินกองทุนรวมของกลุ่มธนาคาร ณ 31 มี.ค. 2561 มีจำนวน 59,700 ล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนรวมต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่ 20.8% โดยเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนชั้น 1 ที่ระดับ 15.5%

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles