ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยรายงาน ดัชนีความเชื่อมั่นธุรกิจ เดือน ส.ค.67 อยู่ในระดับ 47.1 ทรงตัวจากเดือนก่อน จากการเพิ่มขึ้นของความเชื่อมั่นด้านการผลิต และคำสั่งซื้อ แต่ด้านการจ้างงานปรับลดลง
สำหรับความเชื่อมั่นของภาคการผลิต ปรับเพิ่มขึ้นจากกลุ่มผลิตยานยนต์ รวมทั้งกลุ่มผลิตพลาสติกและยางพาราเป็นสำคัญ โดยเฉพาะความเชื่อมั่นด้านการผลิต และผลประกอบการที่ปรับเพิ่มขึ้น หลังจากที่ปรับลดลงมากในเดือนก่อน อย่างไรก็ดี ความเชื่อมั่นของธุรกิจอื่นปรับลดลง และดัชนีฯ ส่วนใหญ่ยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 สะท้อนภาวะธุรกิจของภาคการผลิตที่ยังดีไม่ทั่วถึง
ขณะที่ความเชื่อมั่นในภาคที่มิใช่การผลิต ลดลงจากหลายกลุ่มธุรกิจ นำโดยกลุ่มค้าปลีก ยานยนต์ และสินค้าอุปโภคบริโภค จากการระมัดระวังการใช้จ่ายของประชาชน ทำให้ความเชื่อมั่นด้านปริมาณการค้า และคำสั่งซื้อลดลงมาก เช่นเดียวกับกลุ่มก่อสร้าง ที่ดัชนีฯ ปรับลดลงตามความล่าช้าของการเบิกจ่ายโครงการภาครัฐขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าสูงกว่า 100 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี กลุ่มโรงแรมและร้านอาหารเป็นธุรกิจเดียวที่ดัชนีฯ ปรับเพิ่มขึ้นได้ต่อเนื่อง ตามความเชื่อมั่นด้านคำสั่งซื้อเป็นสำคัญ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากวันหยุดในหลายประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น อินเดีย และมาเลเซีย ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น
ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ดัชนีความเชื่อมั่นลดลงต่อเนื่อง มาอยู่ที่ 49.8 ต่ำกว่าระดับ 50 เป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี สะท้อนความเชื่อมั่นในระยะข้างหน้าที่แย่ลงเมื่อเทียบกับปัจจุบัน โดยเป็นผลจากความเชื่อมั่นในภาคการผลิต ที่ปรับลดลงมากตั้งแต่กลางปีนี้เป็นสำคัญ นำโดยกลุ่มผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ที่ความเชื่อมั่นด้านผลประกอบการ และคำสั่งซื้อมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ตามความต้องการสินค้าแผงวงจรพิมพ์ (Printed Circuit Board : PCB) และแผงวงจรรวม (Integrated Circuit : IC) ที่น้อยลงจากสต็อกของคู่ค้าที่อยู่ในระดับสูง เช่นเดียวกับกลุ่มผลิตเหล็ก ที่ดัชนีฯ ปรับลดลงสอดคล้องกับความต้องการใช้งานที่ลดลงในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น กลุ่มผลิตยานยนต์และอสังหาริมทรัพย์
ขณะที่ความเชื่อมั่นในภาคที่มิใช่การผลิต ปรับเพิ่มขึ้นเกือบทุกหมวดธุรกิจ นำโดยกลุ่มก่อสร้าง ที่คาดว่าโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ จะทยอยเบิกจ่ายได้ในไตรมาส 4/67 รวมทั้งกลุ่มค้าปลีก ที่ดัชนีความเชื่อมั่นปรับเพิ่มขึ้นจากด้านคำสั่งซื้อ และปริมาณการค้าเป็นสำคัญ โดยเฉพาะกลุ่มห้างสรรพสินค้า