ดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนน ไตรมาส 2 เพิ่มเพิ่มขึ้นในอัตราชะลอตัว หวังไตรมาส 3 โตต่อ รับอานิสงส์มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐ

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) โฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ภาพรวมดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนน ไตรมาสที่ 2 ปรับตัวสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัว เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2567 โดยมีสาเหตุจากปริมาณการขนส่งสินค้าทางถนนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากความต้องการขนส่งที่ขยายตัวตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยเฉพาะภาคการส่งออก และการขยายตัวของธุรกิจ E – Commerce ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง

โดยดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนน โครงสร้างแบ่งตามกิจกรรมการผลิต ไตรมาสที่ 2 เพิ่มขึ้น

ร้อยละ 0.2 (YoY) เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2567 เป็นการสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัว จากไตรมาสก่อนหน้าซึ่งสูงขึ้นร้อยละ 2.7 โดยมีปัจจัยสำคัญจากการสูงขึ้นของหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 0.4 จากการสูงขึ้นของค่าบริการขนส่งสินค้ากลุ่มที่สำคัญ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่น ๆ และอุปกรณ์ไฟฟ้า ในขณะที่หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 0.3 จากการลดลงของค่าบริการขนส่งสินค้ากลุ่มถ่านหินและลิกไนต์ และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่ได้จากการทำเหมือง และหมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง ลดลงร้อยละ 2.0 จากการลดลงของค่าบริการขนส่งสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร

ดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนน โครงสร้างแบ่งตามประเภทรถ ไตรมาสที่ 2 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 (YOY) เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2567 (ไตรมาสที่ 1 สูงขึ้นร้อยละ 1.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2567) เป็นการสูงขึ้นของประเภทรถที่บริการขนส่งสินค้า ได้แก่ รถกระบะบรรทุก สูงขึ้นร้อยละ 0.5 รถบรรทุกเฉพาะกิจ สูงขึ้นร้อยละ 0.6 รถตู้บรรทุก สูงขึ้นร้อยละ 0.2 และรถบรรทุกวัสดุอันตราย สูงขึ้นร้อยละ 1.2 ในขณะที่ดัชนีค่าบริการขนส่งโดยรถบรรทุกของเหลว ลดลงร้อยละ 0.7 สำหรับรถพ่วงและกึ่งพ่วงบรรทุกวัสดุยาว ราคาโดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง

โดยมีปัจจัยสำคัญที่ทำให้ดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนน ไตรมาสที่ 2 ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากไตรมาสที่ผ่านมา ยังคงเป็นเรื่องของต้นทุนที่ยังทรงตัวในระดับสูง โดยเฉพาะอัตราค่าจ้างแรงงานในภาคการขนส่ง นอกจากนี้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งการส่งออกและการเติบโตของธุรกิจการค้าออนไลน์ ทำให้ความต้องการและปริมาณการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้น

สำหรับแนวโน้มดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนน ไตรมาสที่ 3 คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย โดยอาจได้รับอานิสงส์จากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจตามแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัฐบาล ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการสร้างงาน จะส่งผลให้กำลังซื้อภายในประเทศขยายตัว นำไปสู่การขนส่งสินค้าตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานให้เติบโตตามไปด้วย

ประกอบกับการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ (พนักงานขับรถบรรทุก) จะเป็นอีกปัจจัยหนุนให้ค่าบริการขนส่งปรับราคาสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม การแข่งขันด้านราคาเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดของผู้ประกอบการขนส่ง มาตรการช่วยเหลือด้านพลังงานของภาครัฐ ความไม่แน่นอนจากนโยบายการค้าและภาษีของสหรัฐฯ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก อาจจะส่งผลให้ดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนนไม่เป็นไปตามที่คาดได้

สำหรับในระยะต่อไปผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์ต้องเผชิญกับความท้าทายจากกระแสความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งจากการเติบโตของธุรกิจ E-Commerce ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและเผชิญกับความเสี่ยงหลายด้าน การเปลี่ยนผ่านสู่การขนส่งคาร์บอนเป็นศูนย์ รวมทั้งเทคโนโลยีดิจิทัลที่เข้ามามีบทบาทในการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการขนส่ง ดังนั้น ผู้ประกอบการโดยเฉพาะกลุ่ม SMEs จำเป็นต้องเตรียมการเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์จะติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์ด้านโลจิสติกส์อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการกำหนดนโยบายสนับสนุนและส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขัน ตลอดจนสร้างความยั่งยืนให้กับภาคโลจิสติกส์ของไทยต่อไป 

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles