ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือน ม.ค. 68 ดีขึ้น รับอานิสงส์ความต้องการสินค้าหมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและประมง หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เพิ่ม

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือน ม.ค. 2568 เท่ากับ 111.1 เมื่อเทียบกับเดือน ม.ค. 2567 สูงขึ้น 0.7% จากการปรับตัวสูงขึ้นของราคาสินค้าหมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง 2% ที่ได้รับผลดีจากปัจจัยภายนอกประเทศจากความต้องการของประเทศผู้ซื้อ แต่ก็กำลังเผชิญกับการแข่งขันที่สูงขึ้นในตลาดโลก สภาพเศรษฐกิจของตลาดปลายทาง และความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ส่งผลให้ภาพรวมของราคาผู้ผลิตยังคงมีความผันผวนในระดับที่ทรงตัวหรืออาจจะมีความเคลื่อนไหวไม่มาก หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเพิ่ม 0.6% ตามราคาตลาดโลกและความต้องการของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง แต่หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมืองลดลง 2% จากการลดลงของสินค้ากลุ่มน้ำมันและผลิตภัณฑ์จากเหมือง

สำหรับรายละเอียดหมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมงที่สูงขึ้น 2% มาจากสินค้าสำคัญ ได้แก่ ยางพารา จากความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้นในตลาดส่งออกภูมิภาคใหม่ ผลปาล์มสด จากปริมาณผลผลิตในตลาดโลกลดลง ในขณะที่ความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้นจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ สับปะรดโรงงาน จากความต้องการของตลาดต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น สุกรมีชีวิต และกุ้งแวนนาไม จากความต้องการบริโภคที่ปรับตัวดีขึ้นกว่าปีก่อน สำหรับสินค้าที่ราคาปรับลดลง ประกอบด้วย ข้าวเปลือกเจ้า จากการที่ประเทศผู้ส่งออกรายสำคัญยกเลิกมาตรการระงับการส่งออก อ้อย จากฐานราคาของปีก่อนที่สูง ประกอบกับปีนี้ผลผลิตออกมาก ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จากความต้องการใช้ในภาคปศุสัตว์ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ หัวมันสำปะหลังสด จากความต้องการในตลาดส่งออกที่ลดลง พืชผัก (มะนาว คะน้า พริกแห้ง) จากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยในการเพาะปลูกและมีปริมาณน้ำที่เพียงพอทำให้ปริมาณผลผลิตออกมาก

หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่สูงขึ้น 0.6% จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ ประกอบด้วย กลุ่มผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่นๆ อาทิ ทองคำ อุปกรณ์กีฬา กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก เป็นต้น

ส่วนหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมืองที่ลดลง 2% จากการลดลงของราคาสินค้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ ก๊าซธรรมชาติ ก๊าซธรรมชาติเหลว (คอนเดนเสท) แร่เหล็ก และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ได้จากการทำเหมือง ได้แก่ ยิปซัม โดโลไมต์ ทราย เกลือ ซึ่งราคาเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับตลาดโลก

ขณะที่ แนวโน้มดัชนีราคาผู้ผลิตเดือน ก.พ. 2568 คาดว่าจะสูงขึ้นเพียงเล็กน้อย โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความต้องการบริโภคในภาพรวมของประเทศที่เพิ่มขึ้นจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัว ภาคการส่งออกที่มีแนวโน้มจะขยายตัวจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ส่วนปัจจัยกดดันที่สำคัญยังคงเป็นปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงส่งผลต่อการบริโภคภาคเอกชน การแข่งขันที่สูงขึ้นในตลาดผู้ส่งออกสินค้าเกษตร ประกอบกับฐานราคาสินค้าเกษตรในปีก่อนที่อยู่ในระดับสูง โดยมีปัจจัยที่ต้องติดตาม ทั้งราคาพลังงาน อัตราแลกเปลี่ยน และผลกระทบจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่ยังคงมีความไม่แน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตในทิศทางใด

ทั้งนี้ สนค.เห็นว่าควรมีมาตรการหรือแนวทางในการสนับสนุนผู้ประกอบการผลิตภายในประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มเกษตรกร และกลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตรให้มีความมั่นคง เช่น การจัดให้มีตลาดรับรองสินค้าเกษตรที่ครอบคลุมชนิดสินค้าที่หลากหลาย เพื่อจูงใจให้เกษตรกรเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจทางเลือกที่มีศักยภาพมากขึ้น ลดอุปทานส่วนเกินของตลาดสินค้าเกษตรหลัก การส่งเสริมการกระจายตลาดของผลผลิตทางการเกษตรแปรรูป เพื่อเพิ่มอุปสงค์ของสินค้าเกษตรและช่วยเพิ่มมูลค่าผลผลิต และการรักษาระดับมาตรฐานสินค้าให้มีคุณภาพตลอดกระบวนการเพื่อสร้างการยอมรับของตลาด และช่วยยกระดับราคาของสินค้า

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles