นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยผลสำรวจตัวอย่างประชาชนทั่วประเทศจำนวน 2,242 คน พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือน เม.ย.67 อยู่ที่ 62.1 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ในรอบ 9 เดือนนับตั้งแต่เดือนส.ค. 2566 เป็นต้นมา ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 56.0 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวมอยู่ที่ 58.9 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 71.5ปรับตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ในรอบ 9 เดือนเช่นกัน
โดยสาเหตุที่ทำให้ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับลดลงมาจากผู้บริโภคเริ่มกลับมากังวลว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้า ประกอบกับราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้นโดยเฉพาะน้ำมันเบนซิน และน้ำมันดีเซลและผู้บริโภคยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัว สงครามในตะวันออกกลางที่อาจยืดเยื้อบานปลาย อาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวล่าช้าของเศรษฐกิจไทย รวมทั้งสถานการณ์การเมืองในปัจจุบันเริ่มมีความผันผวนมากขึ้นในมุมมองของผู้บริโภค
นอกจากนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยังคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 2.50%, ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวสูงขึ้น, การส่งออกเดือนมี.ค.67 กลับมาติดลบอีกครั้งในรอบ 8 เดือนที่ -10.87% รวมทั้งกระทรวงการคลัง ยังปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ ลงเหลือ 2.4% จากเดิมคาด 2.8% ผู้บริโภคยังกังวลต่อปัจจัยเสถียรภาพทางการเมือง ภายหลังมีรัฐมนตรียื่นลาออกหลังการปรับ ครม.
“แม้เดือนเม.ย.จะเป็นช่วงการจัดงานสงกรานต์คึกคัก แต่ก็ไม่สามารถกระตุกสถานการณ์เศรษฐกิจขึ้นได้มาก การจับจ่ายซื้อสินค้าถูกกลบด้วยต้นทุนค่าครองชีพที่สูงขึ้น หลังสิ้นสุดมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซล รวมถึงปัจจัยเรื่องเสถียรภาพการเมือง หลังนายปานปรีย์ ยื่นลาออกทุกตำแหน่งใน ครม. ขณะเดียวกัน ประชาชนยังมองว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า และฟื้นตัวไม่ทั่วถึง”
ขณะที่ปัจจัยบวก มาจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาประเทศไทยมากขึ้น หลังจากการเปิดประเทศ ส่งผลให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนมากขึ้น, ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้นในเกือบทุกรายการ ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น, รัฐบาลดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาประชาชน เช่น การปรับลดค่าไฟฟ้า, การออกมาตการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ เพื่อสนับสนุนการมีที่อยู่อาศัยของประชาชน
อย่างไรก็ตาม แม้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 แต่ยังไม่ถือว่าเป็นขาลง เพราะหากจะเป็นขาลงต้องเป็นการลดลงต่อเนื่องอย่างน้อย 3 เดือนติดต่อกัน ซึ่งความเชื่อมั่นของผู้บริโภค น่าจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องได้ในอนาคตอันใกล้ หากรัฐบาลเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ และกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวขึ้นเป็นรูปธรรมอย่างรวดเร็วในช่วงครึ่งหลังของปีนี้
ส่วนนโยบายของรัฐบาลที่จะให้มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท/วัน เท่ากันทั่วประเทศ โดยเริ่มตั้งแต่ต.ค.67 นั้น ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าค่าแรงขั้นต่ำจะสามารถปรับขึ้นได้จริง 400 บาท/วันเท่ากันทั่วประเทศหรือไม่ เพราะในการประชุมคณะกรรมการไตรภาคีวานนี้ (14 พ.ค.) มีมติให้คณะอนุกรรมการค่าจ้างระดับจังหวัดกลับไปพิจารณาอัตราค่าจ้างกันเองในจังหวัดก่อน แล้วกลับมาเสนออีกครั้งในเดือนก.ค. ขณะที่ประชาชนในฝั่งที่เป็นลูกจ้างเอง ส่วนหนึ่งมีความกังวลว่าหากปรับขึ้นค่าจ้าง 400 บาททั่วประเทศแล้ว นายจ้างจะสามารถแบกรับภาระนี้ได้หรือไม่ เพราะหากนายจ้างไม่สามารถรับภาระได้ สุดท้ายอาจจะต้องตกงานหรือไม่ หากมีการปลดคนงานออกบางส่วน
“การปรับค่าแรงขั้นต่ำ มีผลให้เงินเฟ้อสูงขึ้น แต่ไม่ได้มีผลต่อเศรษฐกิจให้เติบโตขึ้น ซึ่งการปรับค่าแรงขั้นต่ำในครั้งนี้ มีเสียงจากภาคเอกชนสะท้อนว่า ถ้ารัฐบาลมีนโยบายจะปรับขึ้นเป็นวันละ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ ก็ต้องมีมาตรการมาช่วยเยียวยาผู้ประกอบการด้วย เพราะภาคเอกชนเป็นผู้รับภาระในครั้งนี้ทั้ง 100% ไม่ได้เอาภาษีมาจ่าย ตราบใดที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้น และภาคเอกชนมีภาระต้นทุนสูงขึ้น ก็จะมีความยากลำบากในการดำเนินธุรกิจ ดังนั้นจึงเห็นว่าควรจะได้รับการเยียวยาจากรัฐบาลในส่วนนี้”
อย่างไรก็ดี ม.หอการค้าไทย ยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้ไว้ที่ 2.6% ท่ามกลางสถานการณ์ที่ยังไม่ชัดเจนนักทั้งในเรื่องของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต และการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาททั่วประเทศ แต่มองว่า ยังมีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโตได้มากกว่า 3% หากโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเกิดขึ้นได้จริง และการขับเคลื่อนการใช้จ่ายของภาครัฐภายหลังจากงบประมาณปี 67 สามารถเบิกจ่ายได้