ดัชนีเชื่อมั่นหอการค้าไทย ต.ค. ลดลงต่อเนื่องเดือนที่ 6 เดือน อยู่ในต่ำกว่าระดับ 50 เอกชนมองเศรษฐกิจไม่อยู่ในภาวะปกติ

ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ต.ค. ลดลงต่อเนื่องเดือนที่ 6 เดือน อยู่ในต่ำกว่าระดับ 50 เอกชนมองเศรษฐกิจไม่อยู่ในภาวะปกติ

นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC INDEX) เดือน ต.ค. 67 ซึ่งเป็นการสำรวจจากความคิดเห็นของภาคธุรกิจ และหอการค้าทั่วประเทศ จำนวน 369 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 24-31 ต.ค. 67 โดยดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 48.9 ลดลงจากระดับ 49.4 ในเดือน ก.ย. 67 โดยเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 ซึ่งเป็นระดับปกติ ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2

การที่ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ยังคงลดลงต่อเนื่อง เนื่องจากอิทธิพลของปัจจัยด้านลบยังมีมากกว่าปัจจัยด้านบวก ซึ่งภาคธุรกิจมองว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมของหลายจังหวัด ทั้งการลงทุน การท่องเที่ยวยังไม่โดดเด่น ขณะที่ภาคการเกษตร แม้สินค้าเกษตรจะมีราคาสูงขึ้น แต่เป็นเพราะผลผลิตที่เสียหายจากน้ำท่วม ทำให้สินค้าเข้าสู่ตลาดลดลง

นอกจากนี้ การที่รัฐบาลแจกเงินหมื่นบาทให้กับกลุ่มเปราะบางนั้น อาจทำให้การบริโภคขยับขึ้นบ้าง แต่ผลจากมาตรการนี้ก็ยังไม่ทำให้ปริมาณการค้าในหลายพื้นที่โดดเด่นได้มากนัก ขณะที่บางจังหวัดแม้จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาต่อเนื่อง แต่การบริโภค และการจับจ่ายใช้สอย ก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากจากเดือนก่อนหน้า โดยการที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ยังมีสัญญาณชะลอตัวต่อเนื่อง แม้จะมีมาตรการต่างๆ จากภาครัฐออกมา ภาคธุรกิจยังมองว่าเศรษฐกิจในปัจจุบันไม่อยู่ในภาวะปกติที่จะเดินได้โดยลำพัง ซึ่งคงต้องรอดูว่าภาครัฐจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปลายปีนี้อย่างไร

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในกรุงเทพฯ และปริมณฑล อยู่ที่ 48.8 ลดลงจากเดือน ก.ย. ซึ่งอยู่ที่ 49.1 ,ภาคกลาง อยู่ที่ 48.9 ลดลงจากเดือน ก.ย. ซึ่งอยู่ที่ 49.4, ภาคตะวันออก อยู่ที่ 51.8 ลดลงจากเดือน ก.ย. ซึ่งอยู่ที่ 52.1, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ 47.7 ลดลงจากเดือนก.ย. ซึ่งอยู่ที่ 48.0, ภาคเหนือ อยู่ที่ 48.7 ลดลงจากเดือน ก.ย. ซึ่งอยู่ที่ 49.3 และภาคใต้ อยู่ที่ 48.0 ลดลงจากเดือน ก.ย. ซึ่งอยู่ที่ 48.6

โดยมีปัจจัยลบ ได้แก่ ความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ของโลกที่ยังยืดเยื้อ ทั้งรัสเซีย-ยูเครน และอิสราเอล-ฮามาส, การฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง และอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจไทยในอนาคต, ความเสียหายของประชาชนและภาคธุรกิจจากเหตุน้ำท่วมใหญ่ ทำให้ต้องหยุดกิจการและซ่อมแซมบ้านเรือนที่เสียหาย, นโยบายเศรษฐกิจของภาครัฐที่ยังไม่มีความชัดเจน และความผันผวนของค่าเงินบาท และเงินบาทปรับแข็งค่า ซึ่งกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกไทย

ส่วนปัจจัยบวก ได้แก่ การที่รัฐบาลดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการแจกเงิน 10,000 บาทแก่กลุ่มเปราะบางและผู้พิการ, คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาอยู่ที่ 2.25%, จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง,ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวสูงขึ้น ทำให้เกษตรกรมีรายได้ดีขึ้น, การส่งออกไทยเดือน ก.ย. 67 ขยายตัว 1.1% มูลค่าเกือบ 26,000 ล้านดอลลาร์, ครม. ขยายเวลาคงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่ 7% ออกไปอีก 1 ปี, มาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวเมืองรอง 55 จังหวัด มีผลตั้งแต่ พ.ค. – พ.ย. 67 และราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศทรงตัว

ทั้งนี้ ภาคเอกชนยังได้เสนอภาครัฐให้มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี โดยการเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชน การส่งเสริมการท่องเที่ยวทั่วไทยในช่วงปลายปี รวมทั้งเร่งพิจารณามาตรการเสริมทักษะแรงงาน, เสริมศักยภาพให้แก่ SMEs และวางมาตรการควบคุมสินค้าจีนที่อาจทะลักเข้าไทยอย่างต่อเนื่อง จนกระทบกับผู้ประกอบการในอนาคต ตลอดจนรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles