นายอภิชิต ประสพรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน ม.ค. 68 อยู่ที่ระดับ 91.6 เพิ่มขึ้นจากระดับ 90.1 ในเดือน ธ.ค.67 ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกขยายตัวจากอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการเร่งนำเข้าเพื่อสต็อกสินค้า โดยเฉพาะตลาดสหรัฐฯ จีน สหภาพยุโรป และกลุ่มประเทศ CLMV ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม
รวมทั้งได้ปัจจัยหนุนจากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย อาทิ มาตรการ Easy E-Receipt 2.0 (ช่วง 16 ม.ค.-28 ก.พ.68) คาดว่าจะช่วยให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นประมาณ 70,000 ล้านบาท รวมถึงโครงการโอนเงิน 10,000 บาท เฟส 2 ให้แก่ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป วงเงินกว่า 30,000 ล้านบาท ซึ่งช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้ประชาชน
อีกทั้งภาพรวมนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลปีใหม่ และตรุษจีน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามามากถึง 532,853 คนในเดือน ม.ค.68 ประกอบกับภาครัฐลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน เช่น มาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซล ไม่เกิน 33 บาท/ลิตร (1 ม.ค.-31 มี.ค.68), การปรับลดค่าไฟฟ้า มาอยู่ที่ 4.15 บาท/หน่วย
อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยลบจากความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าสหรัฐฯ และกฎระเบียบ และมาตรการกีดกันทางการค้าที่เข้มงวดมากขึ้น ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการแข่งขันและการส่งออกสินค้าของไทย นอกจากนี้ยังมีสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ที่กระทบต่อเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และสุขภาพของประชาชน ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น โดยเฉพาะการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง กระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม ส่งผลให้กำลังซื้อฟื้นตัวช้าอีกทั้งยอดขายรถยนต์ยังฟื้นตัวได้ช้า จากการเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงิน และการแข่งขันของรถยนต์ไฟฟ้า (EV)
อย่างไรก็ตามมาตรการรองรับผลกระทบจากนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เป็นหน้าที่ผู้ประกอบการต้องเร่งปรับตัว และติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ซึ่งหากมีการจัดตั้งวอร์รูมที่ภาครัฐและเอกชนร่วมมือกันจะช่วยคลี่คลายสถานการณ์ได้ โดยมีข้อมูลที่จะนำไปเจรจาต่อรองกับทางสหรัฐฯ ให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น
โดย ส.อ.ท. มองแนวทางที่จะสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัว 3.5% ตามที่รัฐบาลต้องการนั้น รัฐบาลจะต้องเร่งยกเลิกกฎหมายจำนวนมากที่เป็นอุปสรรคต่อระบบเศรษฐกิจ และดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ ส.อ.ท. ก็จะช่วยให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น
นอกจากนี้ภาคเอกชนมีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ดังนี้
1. เสนอให้ภาครัฐชะลอการส่งเสริมอุตสาหกรรมที่มีกำลังการผลิตเกินความต้องการในบางอุตสาหกรรม และเน้นส่งเสริมการลงทุนที่เป็นเทคโนโลยีขั้นสูงในอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ ปรับปรุงสิทธิประโยชน์ในการส่งเสริมการลงทุน
2. เสนอให้ภาครัฐเร่งออกมาตรการส่งเสริมการบริโภคสินค้าที่ผลิตในประเทศ ทั้งการเพิ่มการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ส่งเสริมการขยายตลาดในภาคเอกชน
3. เสนอให้ภาครัฐเร่งเปิดเสรีในกิจการไฟฟ้า และจัดทำแผนการเปลี่ยนผ่านไปสู่การเปิดเสรี โดยปรับปรุงกฎหมายเพื่อเปิดใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าแก่บุคคลที่ 3 เป็นการทั่วไป โดยเน้นส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ต้องการใช้พลังงานสะอาดที่ได้ดำเนินการแล้ว
4. เสนอให้ภาครัฐใช้มาตรการทางการค้าอื่นๆ นอกเหนือจากมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด เพื่อให้การปกป้องผู้ประกอบการในประเทศไทยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับสถานการณ์