ตลาดรักษามีลูกยากในไทยปี 68 จะโตกว่า 6% ทะลุกว่า 6,000 ล้านบาท สุขภาพชายไทยเป็นหลัก ค่านิยมมีลูกช้า คนไทยเริ่มทำเด็กหลอดแก้วแบบหวังผลมากขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่าแนวโน้ม ตลาดบริการรักษาภาวะมีบุตรยาก ของโลกในปี 2568 นั้น คาดว่ามีมูลค่ากว่า 2.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 6.8% จากปี 2567 นำโดยการบริการรักษาด้วยวิธีทำเด็กหลอดแก้ว (In Vitro Fertility: IVF) ที่มีสัดส่วนมากกว่า 80% ของมูลค่าตลาดบริการรักษาภาวะมีบุตรยากของโลกโดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่คาดว่าส่วนแบ่งตลาดการรักษาด้วยวิธี IVF จะเพิ่มขึ้นจาก 22% ในปี 2563 ไปเป็น 26% ในปี 2573 จากหลายประเทศเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัยในระดับที่รุนแรงขึ้น สาเหตุมาจากอัตราการเจริญพันธุ์ของโลกมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องจากในปี 2513 ที่ผู้หญิง 1 คนมีบุตรจำนวน 4.8 คน เหลือเพียง 2.2 คน ในปี 2568 รวมถึงค่านิยมในการมีบุตรที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้คู่สมรสทั่วโลกมีบุตรช้าลง สะท้อนจากอายุเฉลี่ยในการคลอดบุตรคนแรกทยอยปรับเพิ่มขึ้นจนปัจจุบันอยู่ที่ราว 28 ปี เทรนด์ดังกล่าวส่งผลให้ตลาดบริการรักษาภาวะมีบุตรยากเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น

นอกจากนี้ จากปัญหาด้านการเจริญพันธุ์ที่พบบ่อยขึ้นทั่วโลก ยังหนุนการเดินทางออกไปรับบริการรักษาภาวะมีบุตรยากในต่างประเทศ (Fertility Tourism) ให้ขยายตัว โดยในปี 2566 มีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 3 หรือราว 14% ของมูลค่าตลาดการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของโลก ทั้งนี้การเติบโตของตลาด Fertility Tourism ของโลก ส่งผลให้ไทยน่าจะได้รับอานิสงส์จากการเดินทางเข้ามารับบริการรักษาภาวะมีบุตรยากของชาวต่างชาติมากขึ้น

สำหรับแนวโน้มตลาดบริการรักษาภาวะมีบุตรยากของไทยในปี 2568 คาดว่าตลาดบริการรักษาภาวะมีบุตรยากของไทย มีมูลค่ากว่า 6.3 พันล้านบาท เติบโต 6.2% จากปี 2567 โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ ลูกค้าชาวไทย มีสัดส่วน 70% ของผู้มาใช้บริการทั้งหมด และลูกค้าชาวต่างชาติอีก 30% แม้มูลค่าตลาดในปี 2567 มีแนวโน้มโตชะลอจากผลของฐานสูงในปีก่อนหน้าตามค่านิยมคลอดบุตรในปีมังกร แต่มูลค่าตลาดในปี 2568 คาดว่าจะขยายตัวเร่งขึ้นได้ โดยเป็นผลมาจากการเดินทางเข้ามารับบริการของชาวต่างชาติที่ขยายตัวสูงกว่าภาพรวมตลาด โดยเฉพาะการรักษาด้วยวิธีเด็กหลอดแก้ว ที่คาดว่าจำนวนรอบการรักษาจะเพิ่มขึ้น 5.9% และเป็นวิธีที่ชาวต่างชาตินิยม เนื่องจากอัตราความสำเร็จสูงกว่าวิธีอื่นๆ ส่วนการรักษาด้วยวิธีผสมเทียมที่อัตราความสำเร็จต่ำกว่า จำนวนรอบการรักษาน่าจะเพิ่มขึ้น 3.7% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการรับบริการของชาวไทย

ตลาดผู้รับบริการรักษาภาวะมีบุตรยากชาวไทย พบว่ามูลค่าตลาดของชาวไทยที่มารับบริการรักษาภาวะมีบุตรยาก คาดขยายตัว 5.0% ในปี 2568 จากค่านิยมมีบุตรช้าลง และปัญหาด้านการเจริญพันธุ์ มูลค่าตลาดชาวไทยที่มีสัดส่วนกว่า 55% ของมูลค่าตลาดทั้งหมดยังโตจากสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้คู่สมรสชาวไทยนิยมมีบุตรช้าลง สะท้อนจากสัดส่วนการคลอดของสตรีที่มีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไปมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากเดิมที่เคยมีสัดส่วนราว 35% ในปี 2555 คาดว่าจะขยับมาเป็น 46% ในปี 2568 รวมถึงหลายคู่ประสบภาวะมีบุตรยากจากปัญหาสุขภาพ เช่น ความไม่สมบูรณ์ของฮอร์โมน โรคอ้วน และโรคเครียดจากการทำงาน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การรักษาด้วยวิธีเด็กหลอดแก้วแบบ ICSI ที่มีค่าใช้จ่ายสูง ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้รับบริการชาวไทย จากสาเหตุการมีบุตรยากมีความซับซ้อนและเกิดจากเพศชายมากขึ้น การรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยวิธีผสมเทียม (IUI) เริ่มได้รับความนิยมน้อยลง สะท้อนจากช่วงหลังโควิดจำนวนรอบการรักษาด้วยวิธี IUI มีสัดส่วนลดลงจาก 31% ในปี 2565 คาดว่าจะเหลือเพียง 28% ในปี 2568 เช่นเดียวกับการทำเด็กหลอดแก้วแบบปกติ (IVF) ที่อัตราการเติบโตของรอบการรักษาเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียง 2% ต่อปี ขณะที่ การรักษาด้วยการทำเด็กหลอดแก้วแบบเฉพาะเจาะจง (ICSI) มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 8% ต่อปี (CAGR ปี 2565-2568)

แนวโน้มการรักษาด้วย ICSI ที่โตขึ้นสอดคล้องกับผู้ประกอบการในธุรกิจที่ระบุว่าในระยะหลัง ภาวะมีบุตรยากที่พบในคู่สมรสชาวไทยมีความซับซ้อน และพบว่าเกิดในฝั่งเพศชายมากขึ้นจากความไม่สมบูรณ์ของน้ำเชื้ออสุจิตามพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ และความผิดปกติที่เกิดจากการใช้ยารักษาโรคบางชนิด เป็นต้น ซึ่งการรักษาด้วย ICSI ที่เป็นนวัตกรรมใหม่จะให้อัตราความสำเร็จที่สูงกว่าวิธีอื่นๆ หากผู้รักษามีภาวะข้างต้น

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles