ตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยซึมยาวถึงสิ้นปี 67 ยอดขาย 27 จังหวัดตกต่ำในครึ่งปีแรก กำลังซื้ออยู่จริงอ่อนปวกเปียก

ตลาด อสังหาริมทรัพย์ ไทยซึมยาวถึงสิ้นปี 67 ยอดขาย 27 จังหวัดตกต่ำในครึ่งปีแรก กำลังซื้ออยู่จริงอ่อนปวกเปียก

นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคาร และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวถึงสถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยว่า ภาพรวมครึ่งแรกของปี 2567 ชะลอตัวมากกว่าช่วง COVID-19 ลุ้นครึ่งปีหลังดึงให้ภาพทั้งปีติดลบน้อยกว่าร้อยละ 5 ภาพรวมด้านอุปสงค์ในครึ่งปีแรก 2567 นับได้ว่าเป็นการชะลอตัวที่แรงกว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

แม้กระทั่งในช่วง COVID-19 ในปี 2563-2564 โดยพบว่า ในครึ่งปีแรก 2567 มีจำนวนหน่วยและมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยเพียง 159,952 หน่วย และ 452,136 ล้านบาท ซึ่งลดลงร้อยละ -9.0 และ -9.4 ตามลำดับ และมีจำนวนเงินสินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลปล่อยใหม่ เพียง 265,644 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 15.2 เมื่อเที่ยบกับครึ่งปีแรกของปี 2566 ปริมาณหน่วยโอนกรรมสิทธิ์สะสม 2 ไตรมาสแรก หรือ รอบครึ่งแรก ปี 2567 ของบ้านใหม่ ลดลงร้อยละ -12.4 และบ้านมือสอง ลดลงร้อยละ -6.9 โดยราคากลุ่มของบ้านใหม่การโอนกรรมสิทธิ์ในระดับราคา 1.01-1.50 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 ในขณะที่บ้านมือสองกลุ่มระดับราคา 5.01-7.50 เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 เป็นที่น่าสังเกตว่าการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยประเภทบ้านแนวราบ ลดลงร้อยละ -14.2

ขณะที่ อาคารชุดโดยภาพรวมมีอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 ทั้งนี้ เป็นการเพิ่มขึ้นของอาคารชุดมือสองร้อยละ 11.8 ในขณะที่อาคารชุดใหม่ลดลงร้อยละ -1.5 โดยเป็นการลดลงในกลุ่มระดับราคามากกว่า 10.00 ล้านบาทขึ้นไปมากที่สุดถึงร้อยละ -33.5 ขณะที่อาคารชุดใหม่มีการโอนกรรมสิทธิ์เพิ่มขึ้นในกลุ่มราคา 2.01-3.00 ล้านบาทมากที่สุดถึงร้อยละ 15.8 รองลงมาคือระดับราคา 1.51-2.00 ร้อยละ 14.2 และระดับราคา 1.01-1.50 ร้อยละ 4.6

นอกจากนี้ REIC ยังพบว่า ภาพรวมยอดขายที่อยู่อาศัยได้ใหม่ใน 27 จังหวัดของครึ่งแรกของปี 2567 มีการชะลอตัวลงด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ได้สะท้อนให้เห็นถึงได้ว่า กำลังซื้อของผู้ที่ต้องการที่อยู่อาศัยยังคงอ่อนแอจากภาวะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและภาระหนี้สินต่าง ๆ ของครัวเรือน และเมื่อเกิดภาวะการปฏิเสธสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ก็ทำให้ผู้ซื้อบ้านเกิดความไม่มั่นใจในการซื้อและกู้ ทำให้บางส่วนเปลี่ยนใจในการชะลอการซื้อที่อยู่อาศัยออกไป

ส่วนกลุ่มที่ซื้อที่อยู่อาศัยเพื่อการลงทุน ก็ชะลอการลงทุน เพราะไม่ต้องการนำเงินส่วนตัวมาลงประมาณร้อยละ 20 ของราคาที่อยู่อาศัยตามเกณฑ์ LTV และไม่อยากสร้างหนี้ระยะยาวในช่วงนี้ แต่นำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นที่มีผลตอบแทนดี

อย่างไรก็ตาม REIC ประเมินทิศทางตลาดที่อยู่อาศัยปี 2567 โดยได้มีการปรับประมาณการจากข้อมูลที่เกิดขึ้นจริงในช่วงครึ่งปีแรก ประกอบด้วยอัตราขยายตัว GDP อัตราดอกเบี้ย MRR เฉลี่ย 6 ธนาคาร อัตราเงินเฟ้อทั่วไป อัตราดูดซับ รวมถึงผลกระทบจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา

โดย REIC คาดการณ์ภาพของตลาดที่อยู่อาศัยในปี 2567 ว่าจะมีการปรับตัวลงของทั้งอุปสงค์และอุปทานในตลาด โดยจะมีหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยจำนวนประมาณ 350,545 หน่วย ลดลงร้อยละ -4.4 และมีช่วงการขยายตัวระหว่าง ร้อยละ -14.0 ถึง ร้อยละ 5.1 โดยมีจำนวนหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยแนวราบประมาณ 243,088 หน่วย ลดลงร้อยละ -6.0 และมีช่วงการขยายตัวระหว่างร้อยละ -15.4 ถึง ร้อยละ 3.3 และคาดการณ์ว่าจะมีจำนวนหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยอาคารชุดประมาณ 107,456 หน่วย ลดลงร้อยละ -0.6 และมีช่วงการขยายตัวระหว่างร้อยละ -10.5 ถึงร้อยละ 9.4

ด้านมูลค่าโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าประมาณ 1,012,760 ล้านบาท ลดลงร้อยละ -3.3 และมีช่วงการขยายตัวระหว่างร้อยละ -12.9 ถึง ร้อยละ 6.4 ประกอบด้วยมูลค่าโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยแนวราบประมาณ 717,052 ล้านบาท ลดลงร้อยละ -3.4 และมีช่วงการขยายตัวระหว่างร้อยละ -13.1 ถึง ร้อยละ 6.3 มูลค่าโอนกรรมสิทธิ์อาคารชุดประมาณ 295,707 ล้านบาท ลดลงร้อยละ -2.9 และมีช่วงการขยายตัวระหว่างร้อยละ -12.6 ถึง ร้อยละ 6.8

ขณะที่คาดการณ์ว่า ปี 2567 จะมีมูลค่าสินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลปล่อยใหม่ทั่วประเทศจำนวน 651,317 ล้านบาท ลดลง ร้อยละ -4.0 และมีช่วงการขยายตัวระหว่างร้อยละ -11.7 ถึง ร้อยละ 5.6

ด้านอุปทานคาดการณ์ว่าปี 2567 จะมีการออกใบอนุญาตจัดสรรทั่วประเทศจำนวน 89,420 หน่วย ลดลง ร้อยละ -6.4 และมีช่วงการขยายตัวระหว่างร้อยละ -15.8 ถึง ร้อยละ 3.0 ปี 2567 รวมทั้งคาดว่าจะมีจำนวนพื้นที่การออกใบอนุญาตก่อสร้างทั่วประเทศประมาณ 36,102,795 ตร.ม. ลดลง ร้อยละ -8.9 และมีช่วงการขยายตัวระหว่างร้อยละ -18.0 ถึง ร้อยละ 2.5 โดยมีจำนวนพื้นที่การออกใบอนุญาตก่อสร้างแนวราบทั่วประเทศประมาณ 32,816,529 ตร.ม. ลดลง ร้อยละ -9.5 และมีช่วงการขยายตัวระหว่างร้อยละ -18.5 ถึง ร้อยละ 1.4 และมีจำนวนพื้นที่การออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารชุดทั่วประเทศประมาณ 3,286,266 ตร.ม. ลดลง ร้อยละ -3.0 และมีช่วงการขยายตัวระหว่างร้อยละ -12.7 ถึง ร้อยละ 8.7

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles