ตอกย้ำชัด! เงินกู้แบงก์ในไทยวูบมากสุดใน 20 ปี เศรษฐกิจไทยป่วยซึม หนี้ครัวเรือนพุ่งสูง

ตอกย้ำชัด! เงินกู้ แบงก์ ในไทยวูบมากสุดใน 20 ปี เศรษฐกิจไทยป่วยซึม หนี้ครัวเรือนพุ่งสูง

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ และหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) เปิดเผยว่าในไตรมาสที่ 3 ปีผ่านไป การปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ชะลอตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี และคาดว่าการปล่อยสินเชื่อจะหดตัวต่อเนื่องในไตรมาส 4 ของปีผ่านไป การปล่อยสินเชื่อในระบบหดตัวต่อเนื่องตั้งแต่เดือนเมษายน 2567 ก่อนจะหดตัวเพิ่มขึ้นเป็น 2.6% ในเดือนพฤศจิกายน โดยเฉพาะสินเชื่อรายย่อยที่หดตัวมาตั้งแต่ก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม สินเชื่อธุรกิจและ SMEs ยังขยายตัวได้เล็กน้อย ประมาณ 1.6% ในเดือนพฤศจิกายน 2567

ที่ผ่านมาจะเห็นว่าค่าใช้จ่ายสวัสดิการของภาครัฐเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจาก 19% เป็น 29% ระหว่างปี 2557-2566 ทำให้ค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น การลงทุน การกระตุ้นเศรษฐกิจทำได้น้อยลง ขณะที่รายได้ของรัฐบาลก็ลดลงด้วย นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยของไทยยังค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับเงินเฟ้อ ทำให้มีโอกาสที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะลดดอกเบี้ยลงอีกได้ในปีนี้ อุตสาหกรรมที่น่าห่วงท่ามกลางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว คืออุตสาหกรรมยานยนต์ เมื่อปี 2567 ยอดผลิตรถยนต์ในไทยอยู่ที่ 1.46 ล้านคัน ลดลง 19.95% จากปีก่อนหน้า โดยเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 4.59 แสนคัน ลดลง 33.09% และส่งออก 1 ล้านคัน ลดลง 12.07%

อภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) เปิดเผยว่ากำไรของบริษัทหดตัว 2 ปีติดต่อกัน สาเหตุสำคัญมาจากอุตสาหกรรมรถยนต์ที่หดตัว ซึ่งเลี่ยงไม่ได้ที่จะกระทบต่อธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ จากภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ต้องเรียกว่าวิกฤต เนื่องจากราคารถยนต์ที่ตกต่ำ กระทบต่อการเกิด NPL ใหม่ๆ และ Credit Cost ที่สูงขึ้นจากการยึดรถ

ในปีนี้คาดว่าการหดตัวของยอดปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์โดยรวมน่าจะยังหดตัวใกล้เคียงกับปีก่อนที่ประมาณ 11% เนื่องจากบริษัทเข้มงวดในการปล่อยมากขึ้น เน้นลูกค้าที่มีความเสี่ยงจะเป็นหนี้เสียน้อย และคัดกรองรุ่นรถ อายุรถ รวมทั้งดีลเลอร์ อย่างเข้มงวดมากขึ้น ขณะที่สินเชื่อในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เช่น บ้าน ยังอยู่ในสถานการณ์ที่ควบคุมได้ ขณะที่รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยซึ่งมาจากธุรกิจอื่นๆ ยังคงเติบโตได้ค่อนข้างดี เช่น ธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management) ยังคงเติบโตดี โดยมีสินทรัพย์ภายใต้การแนะนำ (AUA) และสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการ (AUM) รวมเกินกว่า 1 ล้านล้านบาท ในปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะเติบโตเกินกว่า 10% ได้ในปีนี้

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles