ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน หรือ Center for Gambling Studies (CGS) คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยสถานการณ์การพนันในสังคมไทยปี 2566 พบว่า สังคมไทยกับวงจรการพนันที่รุนแรงขึ้น เมื่อการพนันกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ผลการสำรวจล่าสุดสะท้อนภาพที่น่าวิตกของสังคมไทย เมื่อพบว่าประชาชนเกือบทั้งประเทศ (99.3%) มีบุคคลรอบตัวที่เล่นการพนัน โดยกลุ่มที่มีอิทธิพลมากที่สุดคือเพื่อนสนิท (84.9%) ตามมาด้วยคนแถวบ้าน (81.1%) และญาติพี่น้อง (80.4%) สะท้อนให้เห็นว่าการพนันได้แทรกซึมเข้าไปในทุกระดับความสัมพันธ์ของสังคมไทย แม้แต่ในครอบครัว พบว่ามีพ่อแม่ที่เล่นการพนัน 66.6% และคนรักหรือแฟนอีก 58.9% ขณะที่ดารา นักร้อง และเน็ตไอดอล ซึ่งมีอิทธิพลต่อเยาวชน ก็มีถึง 46.6% ที่เกี่ยวข้องกับการพนัน
รายงานพบว่าคนไทยเกือบ 100% (99.9%) สามารถพบเห็นช่องทางการเล่นพนันได้โดยง่าย โดยช่องทางที่พบมากที่สุดคือคนขายและแผงขายสลากกินแบ่งรัฐบาล (98.2%) ตามมาด้วยคนเดินโพยหวยและโพยบอล (95.1%) แอปพนัน (83.6%) และ TikTok (82.9%) บางช่องทาง พบว่าเมื่อเห็นแล้วรู้สึกอยากเล่น ‘มากถึงมากที่สุด’ ในอัตราที่สูง โดยเฉพาะเว็บพนัน (50.1%) เฟซบุ๊ก (49.6%) และบ่อนในชุมชน (45.0%) นอกจากนี้ยังพบว่าหลายช่องทางสามารถเข้าไปเล่นได้ทันที โดยเฉพาะคนเดินโพยหวยและโพยบอล (25.7%) และเว็บพนัน (19.7%)
การเห็นคนรอบตัวเล่นพนันมีผลต่อความรู้สึกอยากเล่นพนันในระดับปานกลางโดยเฉลี่ยแล้วในกลุ่มเด็กอายุ 15-18 ปี มี 21% ยอมรับว่ามีผลให้รู้สึกอยากเล่นพนันในระดับมากถึงมากที่สุด และในกลุ่มเยาวชนอายุ 19-25 ปี มีผลสูงถึง 26% นอกจากนี้ คนไทยเริ่มเล่นพนันเร็วขึ้น และเข้าถึงพนันง่ายขึ้น ปัจจุบันคนไทย 82.2% มีประสบการณ์เล่นพนันในชีวิตเพิ่มขึ้น 3% จากการสำรวจปี 2564 โดยเฉลี่ยเริ่มเล่นครั้งแรกที่อายุ 22 ปี แต่ที่น่าตกใจคือพบว่ามีผู้เริ่มเล่นตั้งแต่อายุ 6 ขวบ ซึ่งเร็วขึ้น 1 ปีเมื่อเทียบกับผลสำรวจครั้งก่อน
ทั้งนี้ การพนันที่มักเป็นจุดเริ่มต้นได้แก่ สลากกินแบ่งรัฐบาล (30.6%) ไพ่พนัน (23.7%) และหวยใต้ดิน (18.5%) โดย 90.7% เริ่มเล่นผ่านช่องทางออฟไลน์ มีเพียง 7.6% ที่เริ่มผ่านช่องทางออนไลน์ และ 1.7% ที่เล่นทั้งสองช่องทาง