นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยรายงานธุรกิจความเชื่อและความศรัทธา หรือธุรกิจสายมูเตลู ไม่เพียงเป็นอีก 1 ธุรกิจที่เติบโตอย่างมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แต่ยังได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ธุรกิจดังกล่าวได้เปลี่ยนความเชื่อความศรัทธา ทำให้เป็นสินค้าและบริการเพื่อตอบสนองผู้บริโภคแต่ละกลุ่ม โดยนำศาสตร์สายมูมาใช้วางแผนกลยุทธ์ทางการตลาด (Muketing : MU + Marketing) ทั้งการตลาดออนไลน์และออฟไลน์ รวมถึงใช้ในการประชาสัมพันธ์สินค้า/บริการ
กลยุทธ์การจัดแคมเปญให้เข้าถึงผู้บริโภคทุกกลุ่มมากขึ้นโดยผ่านอินฟลูเอนเซอร์ ผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับศาสตร์ความเชื่อ ผู้มีชื่อเสียงมาสร้างความน่าเชื่อถือ เพื่อสร้างประสบการณ์ร่วมด้านอารมณ์ ความรู้สึกกับผู้บริโภค โดยจะสังเกตเห็นได้ชัดเจนผ่านเครื่องใช้ส่วนตัว ได้แก่ วอลล์เปเปอร์หน้าจอโทรศัพท์มือถือที่มีรูปสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือรูปไพ่ต่างๆ เครื่องแต่งกาย กระเป๋า ของใช้ของตกแต่งบ้าน เช่น ผ้าปูที่นอนที่นำสีมงคลตามวันเกิดเดือนเกิด และปีเกิด เข้ามาเป็นจุดขายทางการตลาด
เครื่องประดับต่างๆ สร้อยข้อมือ สร้อยคอ ที่มีการนำสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น พระพิฆเนศ ท้าวเวสสุวรรณ หินมงคลต่างๆ มาออกแบบดีไซน์ในรูปแบบแฟชั่น เครื่องสำอาง ที่นำทองคำปลุกเสก หรือว่านที่มีความเชื่อว่าเสริมศิริมงคลต่างๆ มาเป็นส่วนผสม หมายเลขโทรศัพท์มงคล ที่มีกลุ่มตัวเลขมงคลที่ผู้ใช้มีความเชื่อว่าจะส่งพลังในด้านต่างๆ ให้กับผู้ใช้งาน รวมทั้งธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ คอนโดมิเนียม หมู่บ้านจัดสรร ได้นำศาสตร์ความเชื่อความศรัทธามาเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและเพิ่มโอกาสในการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคมากขึ้น เช่น การออกแบบให้ตรงตามหลักฮวงจุ้ย การปรับเปลี่ยนสีของตัวบ้านและห้องต่างๆ ให้ถูกโฉลกกับผู้ซื้อ หรือ การตกแต่งบ้านที่ตรงกับดวงชะตาของผู้บริโภค เป็นต้น
ทั้งนี้ ธุรกิจความเชื่อความศรัทธา หรือ ศาสตร์มูเตลู ได้รับความนิยมจากทุกกลุ่มอายุ โดยแต่ละกลุ่มอายุจะมีวิธีการ มูเตลูที่แตกต่างกัน ซึ่งกลุ่มที่มีความเชื่อค่อนข้างสูงได้แก่ กลุ่มเจนซี(Z) โดยการเข้าถึงข้อมูลส่วนใหญ่จะมาจากสื่อโซเซียลมีเดีย ซึ่งสอดคล้องกับพฤติกรรมของกลุ่มเจนซีในไทยที่มีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตสูงสุดกว่าทุกช่วงกลุ่มวัย หากธุรกิจสามารถพัฒนาสินค้า และส่งเสริมการตลาดได้ตรงกลุ่ม ย่อมส่งผลต่อโอกาสในการขายสินค้าและบริการได้สูงขึ้นเช่นกัน