ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ในปี 2567 ผ่านไปนั้น จำนวนประชากรไทยในประเทศไทยลดลง สาเหตุจากเด็กเกิดใหม่มีจำนวนน้อยไม่ถึง 500,000 คน และจำนวนคนไทยเสียชีวิตมีมากกว่าจำนวนเด็กเกิดใหม่ ประชากรไทยเริ่มลดลงมาตั้งแต่ปี 2563 อย่างต่อเนื่อง โดยจำนวนเด็กเกิดใหม่ในปี 2560 มีประมาณ 700,000 ราย ลดลงมาเหลือที่ 462,240 รายในปี 2567 หรือลดลงราว 237,760 ราย หรือ -33.96% ในช่วง 8 ปีผ่านมา ในทางตรงกันข้าม จำนวนประชากรไทยเสียชีวิตในช่วงระยะเวลาเดียวกัน ปรากฏว่า ในปี 2560 มีจำนวนประมาณกว่า 400,000 ราย เพิ่มสูงขึ้นมาเป็น 571,646 ราย หรือเพิ่มขึ้นกว่า 170,000 ราย หรือกว่า 42% ในช่วง 8 ปีผ่านมา
ดังนั้น จำนวนประชากรไทยสุทธิในปี 2567 จึงเหลืออยู่ที่ 65.95 ล้านคน จากที่เคยมีประชากรจำนวน 66.19 ล้านคนในปี 2560 ที่สำคัญจำนวนประชากรไทยลดลงตั้งแต่ปี 2562 จำนวน 66.56 ล้านคน เรื่อยมาถึงปี 2567 มีจำนวน 65.95 ล้านคน ต่อเนื่อง (ปี 63: 66.19, ปี 64: 66.17, ปี 65: 66.09 และปี 66: 66.05 ล้านคน) รวมลดลง 240,000 คน หรือ -0.36% ในช่วง 6 ปีดังกล่าว เฉลี่ยลดลงราวปีละ 40,000 คน
ที่น่าสนใจ คือ แม้คนไทยจะมีอายุยืนยาวขึ้น แต่มีจำนวนคนเสียชีวิตก็ยังสูงขึ้นเช่นกัน พบว่า อายุขัยเฉลี่ยเป็นปี หรือ Life Expectancy at Birth ของคนไทยในปี 2517 อยู่ที่ 61 ปี ต่อมาอีก 25 ปี อายุขัยเฉลี่ยในปี 2542 เพิ่มเป็น 70 ปี และในอีก 25 ปีผ่านมา เมื่อปี 2567 ตัวเลขอายุดังกล่าวเพิ่มเป็น 78 ปี
เมื่อมองไปข้างหน้า คาดว่าการลดลงของประชากรไทยจะรุนแรงมากขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าช่องว่างของจำนวนเด็กเกิดใหม่ และคนเสียชีวิตอาจเพิ่มขึ้นอีก ทำให้ประชากรไทยลดลงโดยมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย ดังนี้ ในแง่กาคเกิดน้อยลง เนื่องจากค่านิยมการมีบุตรที่เปลี่ยนไป คือ โสด/ไม่ต้องการมีบุตร และภาวะเศรษฐกิจ/กำลังซื้อไม่เอื้อ ต่อมาปัญหาด้านการเจริญพันธุ์ทำให้มีบุตรยาก เช่น แต่งงานช้าลง ภาวะเครียด ในแง่การเสียชีวิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากคนไทยเจ็บป่วยด้วยโรค NCDs* มากขึ้น โดยเฉพาะคนสูงอายุสะท้อนจากคนไทยเสียชีวิตจากโรคนี้เป็นอันดับ 1 และสภาพแวดล้อมมีความเสี่ยงต่อสุขภาพ เช่น โรคอุบัติใหม่, ฝุ่น PM 2.5, อากาศร้อนจัด
สอดคล้องไปในอีก 50 ปีข้างหน้าประชากรไทยอาจเหลือไม่ถึง 56 ล้านคน คาดการณ์ว่า เมื่อถึงปี 2617 ประชากรไทยจะลดลงเหลือเพียง 55.7 ล้านคน** ประกอบด้วย วัยเด็กมีอายุ 0-14 ปี มีสัดส่วนเพียง 11% วัยแรงงานมีอายุระหว่าง 15-59 ปี มีสัดส่วน 47% และวัยสูงอายุ ตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป มีสัดส่วนมากถึง 42% ทั้งหมดเทียบกับจำนวนประชากรไทยคาดการณ์ในปี 2617