นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP เปิดเผยว่า ขณะนี้ บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (ปตท.สผ.อีดี) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ได้เร่งแผนเพิ่มปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติจากแปลงG1/61(เอราวัณ) โดยได้ติดตั้งแท่นหลุมผลิต (Wellhead Platform) ตามแผน ทำให้มั่นใจว่าภายในเดือนเมษายนี้จะผลิตก๊าซฯได้ตามสัญญาที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุต (ลบ.ฟุต) ต่อวัน
ที่ผ่านมา ปตท.สผ.ไม่ได้มีการชำระค่าปรับการส่งผ่านราคาก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย กรณีผู้ผลิตไม่สามารถส่งมอบก๊าซฯ ได้ตามเงื่อนไขสัญญาซื้อขายก๊าซฯ (Shortfall )แม้ว่าจะผลิตก๊าซฯจากแปลง G1/61 ไม่ได้ตามสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) ที่ระดับ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันภายหลังจากเป็นผู้ดำเนินการ (Operator) เมื่อวันที่ 24เมษายน2565 เนื่องจากเกิดจากความล่าช้าในการเข้าพื้นที่ เพื่อติดตั้งแท่นหลุมผลิตได้ก่อนเวลา เพราะทางเชฟรอนฯ ไม่อนุญาต ทำให้ปตท.สผ.ไม่สามารถผลิตก๊าซฯได้ ซึ่งกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติก็รับรู้สาเหตุดังกล่าว และอนุมัติให้ ปตท.สผ.เร่งติดตั้งฯ เพื่อผลิตก๊าซฯให้ได้ตามสัญญาที่ระดับ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันภายในเดือนเมษายน 2567
“ปตท.สผ.มั่นใจว่าจะไม่เสียค่าปรับShortfallอย่างแน่นอน เพราะตอนนี้ปริมาณการผลิตก๊าซฯจากแปลง G1/61 มากกว่า 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันแล้ว จากนั้นจะทยอยเพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคม และวันที่ 1 เมษายนนี้ จะเพิ่มเป็น 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันอย่างแน่นอน ทำให้บริษัทไม่ต้องจ่ายค่าShortfallแน่นอน ”นายมนตรี กล่าว
กรณีที่ ปตท.สผ. ไม่สามารถเพิ่มปริมาณการผลิตก๊าซฯ จากแปลง G1/61 เป็น 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในช่วงเดือนธันวาคม 2566 ก็ไม่ต้องจ่ายค่าปรับShortfall เนื่องจากเป็นการประมาณการตัวเลขของ ปตท.สผ. และในสัญญาซื้อขายก๊าซฯ ก็ไม่ได้ระบุตัวเลขดังกล่าว แต่ระบุว่าจะต้องทำให้ได้ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2567 เป็นต้นไป แต่หากหลังเดือนเมษายน 2567 ปตท.สผ. ไม่สามารถรักษาระดับกำลังการผลิตก๊าซฯจากแปลง G1/61 ไว้ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันได้ ก็สามารถนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) เข้ามาทดแทนในส่วนนี้ แต่ต้องขายราคาเดียวกับก๊าซฯ แปลง G1/61 จึงจะไม่โดนค่าปรับShortfall