บริษัทหลักทรัพย์โนมูระ ซึ่งเป็นธุรกิจซื้อขายหลักทรัพย์ชื่อดังระดับโลกในประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งปีแรกนี้ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับทุกสกุลสำคัญโดยเฉพาะในเอเชียและอาเซียน มีสถานะแข็งค่า และให้ผลตอบแทนที่โดดเด่นอย่างมาก ส่งผลทางด้านบวกและด้านลบต่อการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ในเอเชีย และอาเซียนค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่า ประกอบกับผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ในประเทศที่มีศักยภาพด้านเศรษฐกิจที่โดดเด่นนั้น ส่งผลให้มีตลาดหลักทรัพย์ใน 7 ประเทศ ให้ผลตอบแทนเป็นบวกไม่ว่าจะจะอยู่ในรูปสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ และสกุลเงินท้องถิ่นตามลำดับ ได้แก่ 1.ตลาดหุ้นไต้หวัน ดัชนีหุ้นไทเป็กซ์ +20% และ +27% ตลาดหุ้นอินเดีย ดัชนีหุ้นเซนเส็ก +8% และ +9% ตลาดหุ้นมาเลเซีย ดัชนีหุ้นเคแอลซีไอ +6% และ +9% ตลาดหุ้นเวียดนาม ดัชนีหุ้นวีเอ็น +5% และ +10% ตลาดหุ้นออสเตรเลีย ดัชนีหุ้นเอเอสเอ็กซ์ +5% และ +2% ตลาดหุ้นฮ่องกง ดัชนีหุ้นฮั่งเส็ง +4% และ +4% ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ดัชนีหุ้นนิกเคอิ +3% และ +18%
ตลาดหลักทรัพย์ใน 6 ประเทศ ให้ผลตอบแทนเป็นลบ หรือสลับกัน ไม่ว่าจะจะอยู่ในรูปสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ และสกุลเงินท้องถิ่นตามลำดับ โดยเรียงลำดับจากตลาดหุ้นที่มีดัชนีหุ้นเลวร้ายที่สุดไปถึงที่ย่ำแย่น้อยที่สุด ได้แก่ ตลาดหุ้นไทย ดัชนีหุ้น SET -14% และ -8% ตลาดหุ้นอินโดนีเซีย ดัชนีหุ้นเจซีไอ -8% และ -3% ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ ดัชนีหุ้นพีเอสอีไอ -6% และ -1% ตลาดหุ้นนิวซีแลนด์ ดัชนีหุ้นเอ็นแซดเอ็กซ์ 50 -5% และ -3% ตลาดหุ้นจีน ดัชนีหุ้นเซี่ยงไฮ้ คอมโพสิท -3% และ -1% ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ ดัชนีหุ้นคอสปี้ -1% และ +5%
ในตลาดหุ้นอาเซียนนับตั้งแต่ต้นปีนี้มาถึงสิ้นสุดกลางปี พบว่า ตลาดหุ้นประเทศไทยกลายเป็น 1 ในตลาดหุ้นที่ถูกเทขายอย่างเลวร้ายที่สุดแห่งหนึ่งของทวีปเอเชีย นักลงทุนต่างประเทศขายสุทธิหุ้นไทยออกมากถึงกว่า 2,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 103,000 ล้านบาท นักลงทุนขาดทุนถึง 2 หลัก หรือ -10% จากดัชนีหุ้น SET ในรูปสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ในเวลาเดียวกัน ดัชนีหุ้นดังกล่าวตกต่ำมากถึง -8% ในรูปสกุลเงินบาท
ในทางตรงกันข้ามอย่างชัดเจน ตลาดหุ้นมาเลเซียกลับพุ่งทะยาน และให้ผลตอบแทนจากการลงทุนอย่างสวยงาม สะท้อนจากดัชนีหุ้นเคแอลซีไอในครึ่งปีแรกทะยานสูงถึง +9% ในรูปสกุลเงินริงกิต มาเลเซีย และ +6% ในรูปสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ สาเหตุจากบริษัทต่างประเทศชั้นนำจำนวนมากลดความเสี่ยงจากปัญหาขัดแย้งด้านเศรษฐกิจระหว่างจีนกับสหรัฐ ด้วยการย้ายเครือข่ายบริษัทในการผลิตมายังมาเลเซีย บริษัทสัญชาติโลกตะวันตกหลายแห่ง เช่น สหรัฐอเมริกา ลงทุนธุรกิจศูนย์ข้อมูล หรือ Data Center จำนวนมากในมาเลเซีย ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องได้รับประโยชน์ด้านราคาหุ้น เช่น อสังหาริมทรัพย์ ความคึกคักของตลาดหุ้นมาเลเซียดังกล่าวเกิดขึ้นไม่แตกต่างจากตลาดหุ้นเวียดนาม ที่ได้รับอานิสงส์จากปัจจัยของการย้ายการผลิตของจากจีนแผ่นดินใหญ่ด้วย