ทรัมป์ยังไม่ประกาศปรับขึ้นภาษีนำเข้า ดันเงินบาทแข็งค่าสุดในรอบ 2 เดือนครึ่งที่ 33.61 บาทต่อดอลลาร์ฯ สัปดาห์นี้คาดแตะสุด 34 บาท

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า เงินบาท แข็งค่าขึ้นสอดคล้องกับทิศทางราคาทองคำในตลาดโลกและสกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชีย สวนทางกับเงินดอลลาร์ฯ ที่ยังคงเผชิญแรงขาย หลังจากที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ยังไม่ตัดสินใจเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากประเทศคู่ค้าในทันทีที่สาบานตนเข้ารับตำแหน่ง (แม้ในเวลาต่อมาจะมีการระบุถึงอัตราภาษีที่เก็บเพิ่ม 25% ต่อสินค้านำเข้าจากเม็กซิโกและแคนาดา และเก็บภาษีเพิ่มอีก 10% ต่อสินค้าที่นำเข้าจากจีนในวันที่ 1 ก.พ. นี้ก็ตาม)

เงินบาทยังมีทิศทางแข็งค่าและแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 2 เดือนครึ่งที่ 33.61 บาทต่อดอลลาร์ฯ ตามทิศทางเงินเยน หลังธนาคารกลางญี่ปุ่นปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% (ไปอยู่ที่ระดับ 0.50%) ในช่วงปลายสัปดาห์ ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ ยังเผชิญแรงกดดันต่อเนื่องตามทิศทางบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ หลังประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ มีความเห็นในระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์ในการประชุม World Economic Forum (WEF) ให้เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง

ในวันศุกร์ที่ 24 ม.ค. 2568 เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ 33.65 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 34.46 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (17 ม.ค.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 20-24 ม.ค. 2568 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 797.4 ล้านบาท และมีสถานะอยู่ในฝั่ง Net Inflows เข้าตลาดพันธบัตรไทย 9,064.3 ล้านบาท (แบ่งเป็น ซื้อสุทธิพันธบัตร 9,071.8 ล้านบาท และตราสารหนี้หมดอายุ 7.5 ล้านบาท)

สัปดาห์นี้ (27-31 ม.ค.68) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 33.30-34.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมเฟด (28-29 ม.ค.) การประชุม ECB (30 ม.ค.) สัญญาณเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สถานการณ์เงินทุนต่างชาติและค่าเงินหยวน ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย และดัชนีราคา PCE และ Core PCE เดือนธ.ค. 2567 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนม.ค. 2568 ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/2567 (advanced) รวมถึงตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามตัวเลขดัชนี PMI เดือนม.ค. ของจีน และตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/2567 ของยูโรโซนด้วยเช่นกัน

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles