ตลาดซื้อขายทองคำโลก นิวยอร์ก รายงานว่า วันที่ 10 เมษายน 2025 ตามเวลาในสหรัฐอเมริกา พบว่า ราคาทองคำส่งมอบทันที หรือ Gold Spot ปิดที่ 3,160.82 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ +101.06 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ หรือ +2.6% ส่งผลทำสถิติราคาปิดสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ ขณะที่เมื่อคืนผ่านมา 3 เมษายน มีราคาสูงสุดระหว่างเป็นประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ที่ระดับ 3,171.49 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ นอกจากนี้ ส่งผลราคาปิดขึ้น 3 วันติดกันรวม +197.53 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ หรือ +5.5%
ในรอบสัปดาห์นี้ ทองคำมีราคาต่ำสุดระหว่างวันลงแตะระดับ 2,955.89 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ ทำสถิติต่ำสุดในรอบ 4 สัปดาห์ ตั้งแต่ต้นปีนี้มาถึงวันที่ 27 มีนาคม 2025 ทองคำราคาส่งมอบทันที(Spot)ปิดสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ครั้งใหม่เกิดขึ้น 21 ครั้ง และมีราคาทะยานขึ้นกว่า 20% นอกจากนี้ สิ้นสุดไตรมาสที่ 1 พบว่าราคาทองคำพุ่งดีที่สุดในรอบ 39 ปี หรือตั้งแต่ปี 1986 ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 14 มีนาคมผ่านมา เป็นวันแรกที่ราคาทองคำปิดแตะหลัก 3,000 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์
สอดรับกับราคาทองคำล่วงหน้า หรือ Gold Future นิวยอร์ก สหรัฐ ปิดที่ 3,177.50 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ +97.10 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ หรือ +3.2% ส่งผลทำสถิติราคาปิดสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ และส่งผลราคาปิดขึ้น 3 วันติดกันรวม +203.90 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ หรือ +6.7% ราคาทองคำล่วงหน้า (Future) ปิดสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ และเกิดขึ้นเป็นครั้งที่ 17 ในปี 2025 นี้ นอกจากนี้ ครั้งสุดท้ายที่ทองคำมีราคาปิดนิวไฮเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 เมษายน ปิดที่ระดับ 3,166.20 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ ขณะที่เมื่อวันที่ 14 มีนาคม เป็นครั้งแรกที่มีราคาปิดแตะหลัก 3,000 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ และปิดที่ระดับ 3,001.10 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์
สาเหตุจากทำเนียบขาว สหรัฐ แถลงว่าอัตราการเก็บภาษีสินค้ากับจีนรวมเป็น 145% เพราะต้องนับรวมภาษีอีก 20% กับจีนที่ประกาศเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ผ่านมา เนื่องจากจากมีการนำเข้ายาเฟนทานิลจากจีน ซึ่งสหรัฐพิจารณาเป็นยาอันตราย และมีการลักลอบนำเข้าผิดกฎหมายของสหรัฐ นอกจากนี้ การชะลอจัดเก็บภาษีต่างตอบแทน หรือ Reciprocal Tariffs ออกไปนาน 90 วัน ทำให้มีความเสี่ยง และความไม่ชัดเจนในผลการเจรจากับประเทศต่างๆ
ด้านตัวเลขเงินเฟ้อทั้งทั่วไป และขั้นพื้นฐานเดือนมีนาคม สร้างความประหลาดใจ ไม่เพียงลดลงมากเกินกว่าคาด แต่ยังลดลงมากที่สุดในรอบ 4 ปี โดยเงินเฟ้อดังกล่าวลดลง 0.1% เป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 5 ปี หรือตั้งแต่พฤษภาคม 2020 เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ ส่งผลให้เงินเฟ้อทั่วไปมีนาคมอยู่ที่ 2.4% เทียบช่วงเดียวกันในปีผ่านมา เงินเฟ้อพื้นฐานมีนาคมอยู่ที่ 2.8% เทียบช่วงเดียวกันกับปีผ่านมา พบว่าเพิ่มขึ้นน้อยที่สุดในรอบ 4 ปีกว่า หรือตั้งแต่มีนาคม 2021 หลังจากเพิ่มขึ้น 3.1 ในกุมภาพันธ์ จะเป็นสัญญาณที่ดีต่อโอกาสที่ธนาคารกลางสหรัฐจะลดดอกเบี้ยระยะสั้นในอนาคต ทำให้คาดการณ์ว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยลงถึง 1% ในที่เหลือปีนี้
นอกจากนี้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกาลดต่ำลงกว่าระดับ 4% ด้านค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงมากถึงกว่า 1% นอกจากนี้ บันทึกการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด เปิดเผยว่า มีความกังวลกับภาวะเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาที่อาจจะเกิดภาวะเศรษฐกิจไม่เติบโตท่ามกลางเงินเฟ้อพุ่งสูง หรือ Stagflation