ตลาดซื้อขายทองคำโลก นิวยอร์ก รายงานว่า วันที่ 13 พฤศจิกายน 2024 ตามเวลาในสหรัฐอเมริกา พบว่า ราคาทองคำส่งมอบทันที หรือ Gold Spot ปิดที่ 2,580.39 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ -20.54 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ หรือ -0.7% ส่งผลราคาปิดร่วงลง 4 วันติดกันรวม -110.97 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ หรือ -4.7% ในช่วงระหว่างวัน พบว่า ราคาดำดิ่งลงต่ำสุดในรอบ 2 เดือน หรือตั้งแต่วันที่ 20 กันยายนผ่านมา ในสัปดาห์ผ่านไป ราคาทองคำร่วงลงมากถึง -1.8% ทำสถิติราคาทองคำรายสัปดาห์ที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 5 เดือน
โดยเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายนผ่านมา มีราคาดำดิ่งลงปิดต่ำสุดในรอบ 3 สัปดาห์ ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายนผ่านมา ราคาทองคำ Spot ปิดที่ 2,660.10 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ -80.86 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ หรือ -3.0% โดยมีราคาต่ำสุดระหว่างวันที่ระดับ 2,652.19 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ หรือดำดิ่งลึกสุดระหว่างวันถึง -88.77 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ ซึ่งเป็นราคาต่ำสุดในรอบ 3 สัปดาห์ นอกจากนี้ ยังทำสถิติราคาทองคำดำดิ่งรุนแรงใน 1 วันที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 5 เดือน หรือตั้งแต่มิถุนายนผ่านมา สำหรับราคาทองคำส่งมอบทันที หรือ Spot สูงสุดระหว่างวันเป็นประวัติศาสตร์ที่ระดับ 2,790.15 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ สถิติราคาส่งมอบทันที (Spot) ปิดสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์เกิดขึ้นรวมทั้งหมด 7 ครั้งในเดือนตุลาคม
สอดรับกับราคาทองคำล่วงหน้า หรือ Gold Future นิวยอร์ก สหรัฐ ปิดที่ 2,586.50 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ -19.80 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ หรือ -0.8% ส่งผลราคาปิดร่วงลง 4 วันติดกันรวม -119.30 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ หรือ -4.5% ขณะที่เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายนผ่านทา ราคาทองคำล่วงหน้า หรือ Future ปิดที่ 2,669.20 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ -80.50 หรือ -2.9% สำหรับสถิติราคาทองคำล่วงหน้า (Future) ปิดสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์เกิดขึ้นรวมทั้งหมด 6 ครั้งในเดือนตุลาคม สำหรับราคาล่วงหน้า (Future) สูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ที่ระดับ 2,800.80 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2024
สาเหตุจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นถึง 0.5% ทำสถิติแข็งค่าสูงสุดในรอบ 7 เดือน หรือตั้งแต่ 1 กรกฎาคมเป็นต้นมาอย่างต่อเนื่อง สอดรับกับผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากกระทรวงแรงงาน สหรัฐ เปิดเผยว่า ความคืบหน้าเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อสหรัฐมีสัญญาณลดลงอย่างเชื่องช้านับตั้งแต่เดือนมิถุนายนในปีผ่านมา ส่งผลให้นักลงทุนกังวลว่าแนวโน้มจำนวนครั้งในการลดดอกเบี้ยระยะสั้นของธนาคารกลางสหรัฐอาจลดน้อยลง
นอกจากนี้ เงินเฟ้อผู้บริโภคทั่วไปในสหรัฐเดือนตุลาคมเพิ่มขึ้นตามที่คาดการณ์ไว้ที่ 0.2% เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน และเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน ขณะที่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันเมื่อปีผ่านมา พบว่าเงินเฟ้อดังกล่าวเพิ่มขึ้น 2.6% สอดรับกับเงินเฟ้อผู้บริโภคขั้นพื้นฐานในสหรัฐเดือนตุลาคมเพิ่มขึ้นตามที่คาดการณ์ไว้ที่ 0.3% เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน และเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน ขณะที่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันเมื่อปีผ่านมา พบว่าเงินเฟ้อดังกล่าวเพิ่มขึ้น 3.3%
นโยบายของว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ด้านเศรษฐกิจการเงิน และการค้าระหว่างประเทศโดยเฉพาะการประกาศชัดเจนในการขึ้นอัตราภาษีสินค้าจากต่างประเทศตั้งแต่ 10% ถึง 60% ของทรัมป์มีความเป็นไปได้สูงมากที่จะส่งผลต่อแนวโน้มเงินเฟ้อสหรัฐกลับเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต ทำให้วงจรดอกเบี้ยระยะสั้นขาลงต่อเนื่องของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาอาจชะลอตัวลง หรืออาจถึงเวลาสิ้นสุดลง จากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะปรับลดต่อเนื่องในอีก 2 ปีข้างหน้า
ตัวชี้วัดโอกาสปรับลดดอกเบี้ยระยะสั้นของสหรัฐอเมริกา พบว่า การประชุมของธนาคารกลางสหรัฐครั้งต่อไปวันที่ 17-18 ธันวาคมนี้ มีโอกาสที่ 82% จากเดิมที่ 65% ที่เฟดดอกเบี้ยจะปรับลง 0.25%
นักลงทุนยังคงให้น้ำหนักกับการประกาศตัวเลขเงินเฟ้อผู้ผลิตประจำเดือนตุลาคมที่จะประกาศในคืนวันนี้ รวมถึงรอฟังมุมมองด้านดอกเบี้ยระยะสั้นของประธานธนาคารกลางสหรัฐในวันพฤหัสบดีนี้ด้วย
สำหรับราคาทองคำในช่วงแต่ละยุคสมัยของอดีตประธานาธิบดีสหรัฐใน 8 ปีผ่านมา พบว่าในช่วงเทอมที่ 1 ของอดีตประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 45 นายโดนัลด์ ทรัมป์ พบว่าราคาทองพุ่งสูงถึง 54% ในระหว่างปี 2016-2020 ต่อมาในช่วงประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 46 นายโจ ไบเดน พบว่าราคาทองพุ่งสูงถึง 50% ในระหว่างปี 2020-2024