ทอท.รับนโยบายเข้าบริหารแทนกรมท่าอากาศยาน เล็งตั้งบริษัทลูก บริหารสนามบินภูมิภาค

92
0
Share:

นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอทเปิดเผยถึงความคืบหน้ารับโอนและบริหาร 3 สนามบินภูมิภาคของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) สนามบินอุดรธานี สนามบินบุรีรัมย์ และสนามบินกระบี่ โดยระบุว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เร่งออกใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะ ซึ่งในส่วนของ ทอท.ได้เตรียมความพร้อมด้านงบประมาณลงทุนราว 10,360 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงและเพิ่มขีดความสามารถของสนามบินแล้ว

อย่างไรก็ดี ยอมรับว่าการออกใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะ ถือเป็นปัญหาอุปสรรคหลักที่ทำให้เกิดความล่าช้า ส่วนเหตุใดที่ กพท. ยังไม่ออกใบรับรองให้ทั้ง 3 สนามบินนั้น เพราะว่าในบางจุดอาจจะยังไม่ได้มาตรฐานตามที่ กพท. กำหนด เช่น ทางเข้าทางออก เป็นต้น ซึ่งหาก กพท. ออกใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะเรียบร้อยแล้ว ทอท.จึงจะสามารถรับโอนและเข้าไปบริหารสนามบินได้

ปัจจุบันรัฐบาลยังได้มีนโยบายให้ ทอท.รับโอนสนามบินเชิงพาณิชย์ของ ทย.มาบริหารเพิ่มเติมอีก 25 แห่ง ยกเว้นสนามบินตาก เนื่องจากปัจจุบันไม่ได้ใช้งานเชิงพาณิชย์ แต่ใช้ทำการบินเรื่องฝนหลวงเป็นหลัก ซึ่งเป้าหมายของการโอนสิทธิบริหารสนามบินดังกล่าว เพื่อลดภาระในการลงทุนของภาครัฐ เพราะที่ผ่านมารัฐบาลต้องตั้งงบชดเชยการขาดทุนให้กองทุน ทย.ปีละกว่า 3 – 4 พันล้านบาท ดังนั้นจะทำให้ ทอท.มีสิทธิในการบริหารสนามบินภูมิภาคเพิ่มเติมรวมเป็น 28 แห่ง

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันได้มีการหารือเบื้องต้นระหว่างหน่วยงานกระทรวงคมนาคมที่เกี่ยวข้องแล้ว หลังจากนี้ ทอท.จะต้องไปศึกษารูปแบบและแนวทางการบริหารจัดการ 25 สนามบิน พร้อมทั้งวิเคราะห์ว่าจะเข้าบริหารสนามบินใดบ้าง รวมถึงรายละเอียดต่างๆ โดยเฉพาะการตอบสนองผู้ถือหุ้น และด้านศักยภาพเชิงพาณิชย์ของว่าจะสามารถบริหารจัดการในรูปแบบใด โดยจากการประเมินเบื้องต้นพบว่าสนามบินที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์ อาทิ สนามบินขอนแก่น สนามบินตรัง สนามบิน นครศรีธรรมราช สนามบินแพร่ สนามบินน่าน และสนามบินแม่ฮ่องสอน มีศักยภาพในการรองรับผู้โดยสารและนักท่องเที่ยว ส่วนสนามบินใดที่ไม่มีศักยภาพในเชิงพาณิชย์ ก็ต้องพิจารณาว่าจะเหมาะแก่การใช้งานแบบใด หรือใช้ประโยชน์ในภารกิจ โดย ทอท. จะใช้ระยะเวลาศึกษาภาพรวมทั้งหมดไม่เกิน 6 เดือนหลังจากนี้

ทอท.ยืนยันว่าการเข้าไปบริหาร 25 สนามบินภูมิภาคเพิ่มเติมนั้น จะไม่กระทบต่อแผนดำเนินงาน การลงทุน และผลประกอบการของ ทอท. เพราะสนามบินทั้ง 25 แห่งนั้น ได้รับมาตรฐานในการใช้เชิงพาณิชย์อยู่แล้ว อีกทั้งอาจไม่จำเป็นต้องลงทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้เป็นสนามบินขนาดใหญ่ แต่สามารถบริหารจัดการภายใต้เงื่อนไขสนามบินเล็กให้มีศักยภาพได้ อาทิ สนามบินหัวหิน สามารถบริหารให้ได้มาตรฐานเป็นสนามบินเล็กเพื่อรองรับการเดินทางได้

ทั้งนี้ จากการประเมินรูปแบบการรับโอนสิทธิบริหารสนามบิน ทอท.มีแผนจัดตั้งเป็นบริษัทลูกเพื่อเข้ามาบริหาร 25 สนามบิน ซึ่ง ทอท.จะไม่ได้ดำเนินการโดยตรง เพราะถ้าเป็นรัฐวิสาหกิจอาจจะไม่คล่องตัว และมีค่าใช้จ่ายสูงกว่า ดังนั้นแนวทางคือการจัดตั้งเป็นหน่วยงานของรัฐ โดย ทอท.เข้าไปถือหุ้นอยู่ส่วนหนึ่ง และดึงเอากองทุนวายุภักษ์มาร่วม เพื่อให้มีความคล่องตัวในทางการเงินมากขึ้น ซึ่งจะไม่มีการดึงเอกชนเข้ามาร่วมถือหุ้น เพราะเป็นการบริหารทรัพย์สินของรัฐ คาดว่าจะศึกษารูปแบบแล้วเสร็จไม่เกิน 6 เดือนนี้

สำหรับแนวทางดำเนินงานภายหลัง ทย.โอนสิทธิบริหารรวม 28 สนามบินให้ ทอท. จากทั้งหมดที่บริหารอยู่ในปัจจุบัน 29 สนามบิน หลังจากนี้ ทย. ก็จะมีภารกิจในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน หรือสนามบินใหม่เป็นหลัก ส่วนข้าราชการของ ทย. จะมี 2 แนวทางเลือก คือ 1.โอนย้ายกลับไปยังกระทรวงคมนาคม และ 2.สมัครเป็นพนักงานของบริษัทลูกของ ทอท. ส่วนการจ่ายค่าชดเชยรายได้ ภายหลัง ทอท.เข้ามาบริหารจัดการสนามบินทั้งหมด ที่ผ่านมามีการเจรจาในกรณีสนามบินกระบี่ที่เป็นสนามบินหลักสร้างรายได้เลี้ยงทุกสนามบินของ ทย. โดยพบว่าสนามบินกระบี่มีกำไรราว 200 กว่าล้านบาท โดยเมื่อ ทอท.เข้าไปบริหารสนามบินกระบี่ก็จะชดเชยรายได้เข้ากองทุนหมุนเวียนของ ทย. ดังนั้นจากการรับโอนสนามบินเพิ่มอีก 25 แห่ง ทั้งหมดเป็นสนามบินไม่ทำกำไร ทอท. ก็ไม่ต้องชดเชยรายได้