นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงแนวคิดและข้อเสนอที่จะให้รัฐบาลขยายเพดานหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นจากเดิม 70% ชั่วคราวว่าเรื่องการขยายเพดานหนี้สาธารณะโดยขาดแผนรองรับถือเป็นเรื่องอันตรายต่อระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากเพดานหนี้สาธารณะถือเป็นหนึ่งในเกณฑ์วินัยทางการเงินที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้ประเทศมีเสถียรภาพทางการคลังในระยะปานกลางถึงระยะยาว
ทั้งนี้ในอดีตประเทศไทยเคยมีภาคการคลังที่เข้มแข็ง มีระดับหนี้สาธารณะเพียงราวๆ 45% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) แต่ในช่วงหลังๆ ภาครัฐมีการจ่ายเงินกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการกระตุ้นเศรษฐกิจเกิดผลดีแค่ในระยะสั้น แต่ทำให้หนี้ภาครัฐเริ่มแย่ลง ประกอบกับวิกฤตการณ์โควิดที่ทำให้มีการยกเพดานหนี้ขึ้นไปเป็น 70%
“การมีหนี้ในระดับสูงเปรียบเสมือนการใช้บัตรเครดิตเต็มวงเงินแล้วเราจ่ายแค่ขั้นต่ำ ทำให้ต้องเสียดอกเบี้ยแทนที่จะมีเงินไปทำอย่างอื่นอีกมาก”
เมื่อถามว่าการขยายเพดานหนี้ชั่วคราวเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจเหมาะสมหรือไม่ นายนณริฏกล่าวว่าเรื่องนี้จะทำได้ก็ต่อเมื่อหากภาครัฐมีโปรเจคที่จะสามารถสร้างเศรษฐกิจให้เติบโตในระยะยาวได้ ก็สามารถทำได้
เหมือนกับการเป็นหนี้เพื่อการศึกษาหรือเป็นหนี้ลงทุนซื้อเครื่องจักร เพราะในอนาคตจะมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่จากที่ผ่านมารัฐบาลนี้มีแต่ทำโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นฉาบฉวยไม่ยั่งยืน กลัวจะกลายเป็นหนี้ภาระไม่เกิดมรรคผลในระยะยาว